อาการปวดเอว ปวดหลังเป็นหนึ่งในอาการที่คนทำงานออฟฟิศเผชิญอยู่บ่อย ๆ เนื่องจากไม่ได้ขยับเขยื้อนร่างกาย ร่างกายไม่เกิดการเคลื่อนไหวจนกล้ามเนื้อเกร็งตัว อักเสบ ส่งผลให้มีอาการปวดหลังช่วงเอว หรือปวดหลังส่วนล่าง รวมถึงผู้ที่ออกกำลังกายผิดท่า หรือยกของหนักเกินไป ซึ่งอาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นโดยส่วนมากจะหายได้ในเวลาไม่นาน สามารถรับประทานยาแก้ปวดหรือยาพาราเซตามอลก็บรรเทาอาการเบื้องต้นได้ แต่ถ้าหากมีอาการปวดเอว ปวดหลังอย่างต่อเนื่อง เป็นไม่หายสักที ถือว่าเป็นอาการปวดเรื้อรังที่จะต้องพบแพทย์ เพื่อรักษาอย่างถูกต้องต่อไป
ปวดเอว
ปวดเอว (Lower Back Pain) เป็นอาการปวดบริเวณหลังส่วนเอว หรือหลังส่วนล่าง ที่ประกอบด้วยกระดูก, ข้อต่อ, เส้นประสาท, เส้นเอ็น และกล้ามเนื้อทำงานร่วมกันตามการเคลื่อนไหวของร่างกาย ซึ่งอาการปวดดังกล่าวเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการปวดบั้นเอวจากกระดูกสันหลัง, ไตอักเสบ, การอักเสบของกล้ามเนื้อ หรือเกิดการปวดหลังช่วงเอวจากอุบัติเหตุ หากคุณรู้สึกปวดเมื่อขยับร่างกายก็ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาต่อไป
สาเหตุของอาการปวดเอว
เอวคือบริเวณที่ช่วยประสานความสัมพันธ์ของกระดูกสันหลังส่วนล่าง ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของร่างกายที่เกี่ยวกับกระดูกสันหลัง เช่น การยืน การเดิน การนอน การยกของ หรือวิ่ง ซึ่งล้วนแต่ส่งผลให้เกิดการปวดเอวได้ การปวดหลังช่วงเอวอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน ดังรายละเอียดต่อไปนี้
1. อาการปวดเอวที่เกิดจากกระดูกสันหลัง
เป็นอาการปวดเอวที่พบได้โดยทั่วไป เกิดจากความเสียหายจากหมอนรองกระดูกสันหลัง หรือหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท และการเคลื่อนไหวของข้อต่อที่ไม่เหมาะสม จนทำให้กระดูกสันหลังเคลื่อน และบางรายอาจมีการปวดเอวร้าวลงขา
2. อาการปวดเอวที่เกิดจากไตอักเสบ
อาการปวดเอวจากสาเหตุนี้อาจมีนิ่วในไต มักจะมีไข้หนาวสั่น ปัสสาวะขัด ขุ่น และรู้สึกแสบ ซึ่งเป็นภาวะหนึ่งของโรคกรวยไตอักเสบ อาการปวดแบบนี้จะเจ็บปวดมาก หากปล่อยทิ้งไว้อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
3. อาการปวดเอวที่เกิดจากอักเสบ
หากกล้ามเนื้อถูกยืดออกมากจนเกินไป อาจทำให้กล้ามเนื้อฉีกขาดหรืออักเสบ สร้างความเสียหายให้กับกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อเกิดการเกร็งตัว และอาจส่งผลต่อเส้นเอ็นที่เชื่อมกับกระดูก ทำให้เกิดการอักเสบ และปวดเอวตามมา
4. อาการปวดเอวที่เกิดจากอุบัติเหตุ ได้รับบาดเจ็บ
การบาดเจ็บก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการปวดเอวได้ หากได้รับการบาดเจ็บจากการยกของ หรืออุบัติเหตุจนกล้ามเนื้อหลังฉีกขาด กล้ามเนื้อเอวฉีกขาด หรือกระดูกซี่โครงเสียหาย จะรู้สึกปวดและระบมมาก
ลักษณะอาการปวดเอว
อาการปวดเอวมักเกิดขึ้นได้บ่อยในชีวิตประจำวัน ในผู้ป่วยบางรายอาจมีปัญหาปวดเอวร้าวลงขา หรือมีอาการชาร่วมด้วย หากเป็นมากบางรายอาจจะเดินไม่ได้เลย โดยลักษณะอาการปวดเอวที่พบมักมีอาการปวด ระบม ตึง หรือมีอาการปวดหลังส่วนล่าง เนื่องจากการทำงานหนักของกล้ามเนื้อ และการจัดระเบียบร่างกายที่ไม่ถูกต้อง เป็นต้น
วิธีแก้ปวดเอวง่าย ๆ ที่สามารถทำได้ด้วยตัวเองที่บ้าน
การปวดเอวโดยส่วนมากมักเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคล เมื่อมีอาการปวดควรดูแลรักษาตัวเองเบื้องต้น ด้วยการหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้ปวดหลังช่วงเอวมากขึ้น เช่น หลีกเลี่ยงยกของหนัก ปรับท่านั่งให้ถูกต้องเหมาะสม เปลี่ยนอิริยาบถทุก ๆ 20 นาที หากขับรถควรนั่งให้หัวเข่าอยู่สูงกว่าสะโพกเล็กน้อย และควรนอนบนเตียงที่ไม่นิ่มเกินไป เป็นต้น โดยรายละเอียดวิธีแก้อาการปวดหลังช่วงเอวด้วยตัวเองง่าย ๆ มีดังต่อไปนี้
1. กินยาแก้ปวด
การรับประทานยาแก้ปวด หรือยาพาราเซตามอล เป็นหนึ่งในวิธีบรรเทาอาการปวดเอวเบื้องต้น ที่หลายคนเลือกใช้เพื่อบรรเทาอาการ เนื่องจากเป็นวิธีแก้ปวดเอวที่ปลอดภัยหากรับประทานอย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตามการรับประทานยาพาราเซตามอลจะช่วยบรรเทาอาการปวดในระดับเล็กน้อยไปจนถึงปานกลางเท่านั้น หากพบว่ามีอาการปวดเอวระดับรุนแรง ควรเข้าพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการต่อไป
2. พักผ่อนร่างกาย
การที่ร่างกายอยู่ในท่าเดียวนาน ๆ มากเกินไป จะทำให้เกิดอาการปวดเอวตามมา คุณจึงควรหมั่นเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ และพักผ่อนนอนหลับอย่างเพียงพอ นอนในท่าที่ถูกต้อง เพื่อให้ร่างกายเกิดความผ่อนคลาย ไม่ตึงเครียดจนเกินไป
3. ออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อ
การรักษาสุขภาพให้ดีจะช่วยบรรเทาอาการปวดเอวได้ โดยสามารถทำท่าบริหารเอวในท่าที่ถูกต้อง หรือออกกำลังกายเบา ๆ เช่น การว่ายน้ำ หรือออกกำลังกายในสระน้ำอุ่น เพื่อปรับร่างกายให้เกิดความสมดุล จัดกระดูกในท่าที่ถูกต้อง
4. ปรับพฤติกรรมประจำวัน
การใช้กิริยาท่าทางให้ถูกต้อง ทั้งท่ายืน เดิน นั่ง หรือนอน ต้องพยายามนั่งหลังตรง ยืนตรง เพื่อให้แนวกระดูกสันหลังตรงไม่ไปกดทับเส้นประสาท หลีกเลี่ยงการอยู่ท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานาน ๆ เกิน 1 ชั่วโมงขึ้นไป หลีกเลี่ยงการยกของหนัก ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
5. ประคบเย็น
การประคบเย็นจะช่วยลดการปวดเอว ลดการอักเสบหรือการบวมได้ ด้วยการใช้ถุงน้ำแข็งประคบบริเวณที่ปวด ไม่ว่าจะปวดเอวด้านซ้าย หรือปวดเอวข้างขวา โดยวางทิ้งไว้ 20 นาที ทุก ๆ 2 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 48 ชั่วโมง อาการปวดก็จะทุเลาลง
รักษาอาการปวดเอว
วิธีการรักษาอาการปวดเอวเบื้องต้นก็คือ แพทย์จะทำการซักถามอาการ ประวัติการรักษา และกิจวัตรประจำวันของคนไข้ เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด จากนั้นแพทย์ก็จะทำการทดสอบการตึงของกล้ามเนื้อ ตรวจร่างกาย ตรวจระบบประสาท รวมถึงการทดสอบการเคลื่อนที่ หากรู้สึกไม่สบายหรือปวด แพทย์ก็จะวางแผนการรักษาหรือแนะนำวิธีรักษาต่อไป โดยวิธีรักษาอาการปวดเอวมีดังนี้
1. ฝังเข็ม (Dry needling)
การฝังเข็มเพื่อแก้อาการปวดเอวเป็นการแทงเข็มเปล่ารักษาการปวดกรณีที่กล้ามเนื้อหดเกร็งค้าง โดยแพทย์จะทำการใช้เข็มสะกิดให้กล้ามเนื้อเกิดการคลายตัว ช่วยลดอาการปวดได้ โดยวิธีแก้อาการปวดหลังช่วงเอวแบบฝังเข็มมีทั้งการฝังเข็มแบบปัจจุบัน และการฝังเข็มแบบจีน
2. ฉีดยา (Prolotherapy Injection)
ผู้ป่วยที่มีอาการปวดเอวอันเนื่องมาจากการอักเสบ การติดเชื้อ ตลอดจนติดเชื้อบริเวณไตและทางเดินปัสสาวะ อาจจะต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล โดยแพทย์จะทำการฉีดยาเพื่อฆ่าเชื้อและบรรเทาการปวด
3. ทำกายภาพบำบัด (Physical therapy)
การทำกายภาพบำบัดเป็นวิธีเพิ่มความยืดหยุ่นของร่างกาย และปรับปรุงการทำงานของร่างกายส่วนล่างโดยรวม ทำให้กล้ามเนื้อส่วนล่าง ไม่ว่าจะเป็นบั้นท้าย สะโพก และขา เกิดการเคลื่อนไหว ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการปวดเอวได้ดีขึ้น และควรยืดเส้นยืดสายเป็นเวลา 20 – 30 นาที
แนะนำ 3 ท่าบริหารแก้ปวดหลัง ปวดเอว
สาเหตุของการปวดเอวมักพบความตึงตัวของสะโพกส่งผลให้หลังส่วนล่างเคลื่อนไหวมากขึ้น จนกระดูกกดทับเส้นประสาทเป็นเวลานาน ๆ กล้ามเนื้ออักเสบ เลือดไหลเวียนไม่สะดวก การบริหารร่างกายจะช่วยบรรเทาอาการปวดลงได้ ทำให้กล้ามเนื้อเกิดการผ่อนคลายมากขึ้น ในส่วนนี้เรามีท่าบริหารง่าย ๆ ที่ได้คัดสรรมาแล้วว่าคุณสามารถทำได้ดังนี้
1. แก้ปวดเอวด้วยการบิดตัว
ท่านี้ผู้ป่วยจะนอนหงาย โดยให้ชันเข่าตั้งขึ้น แล้วเอาขาอีกข้างขัดกับหัวเข่าข้างที่ต้องการยืด จากนั้นให้ดึงหัวเข่าลง เพื่อบิดเอวไปในทิศทางตรงกันข้ามกับข้างที่ต้องการยืด เมื่อรู้สึกตึงให้ค้างไว้เล็กน้อย ก่อนปล่อยลง ทำซ้ำ 30 – 50 ครั้ง จำนวน 3 เซต
2. แก้ปวดเอวด้วยการจับปลายเท้าก้มตัว
การบริหารร่างกายท่านี้ เป็นวิธีแก้อาการปวดหลังช่วงเอวอย่างได้ผล โดยให้นั่งลงกับพื้น แล้วจับฝ่าเท้าทั้งสองประกบกัน จากนั้นแขม่วท้อง แล้วค่อย ๆ โน้มตัวไปข้างหน้า จนรู้สึกตึงขาหนีบ จากนั้นผ่อนคลายดึงตัวขึ้น แล้วโน้มตัวลงใหม่ ทำประมาณ 30 – 50 ครั้ง จำนวน 3 เซต
3. แก้ปวดเอวด้วยการยืดหลัง
วิธีแก้ปวดเอวที่พวกเราชอบทำกันบ่อย ๆ โดยการยืดหลังในท่าที่ถูกต้องคือ ให้ยืนตรงแล้วหาบันไดที่มีความสูงประมาณหัวเข่ามาวางขา จากนั้นให้ใช้ขาข้างหนึ่งเหยียบบันได แล้วเอามือดันบริเวณที่ปวดเอวด้านหลัง พร้อมกับดันตัวไปข้างหน้า แอ่นหลังเล็กน้อย ย่อยืดขาหน้า ทำประมาณ 20 – 30 ครั้ง จำนวน 3 เซต
สรุป
การปวดหลังช่วงเอวมีหลายสาเหตุด้วยกัน โดยส่วนมากมักเกิดจากการใช้ชีวิตในประจำวันด้วยท่าทางที่ไม่ถูกต้อง วิธีแก้ปวดเอวที่สามารถทำได้ด้วยตนเองคือ ควรนั่งหลังตรง ไม่อยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานเกินไป เปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ และหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หากมีอาการปวดเอวเรื้อรังเกินกว่า 3 เดือน ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีแก้ไขต่อไป
Reference
G Mellin. (1988). Correlations of hip mobility with degree of back pain and lumbar spinal mobility in chronic low-back pain patients. Retrieved August 4, 2023, from https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/2972070/
Beomryong Kim and Jongeun Yim. (2020). Core stability and Hip Exercises Improve Physical Function and Activity in Patients with Non-Specific Low Back pain: A Randomized Controlled Trial. Retrieved August 4, 2023, from https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/32669487/
John Peloza. (2017). Lower Back Pain Symptoms, Diagnosia, and Treatment. Retrieved October 18, 2023, from https://www.spine-health.com/conditions/lower-back-pain/lower-back-pain-symptoms-diagnosis-and-treatment