การได้ออกไปสำรวจพื้นที่ใหม่ ๆ พบเจอและเรียนรู้วิถีชีวิตของคนต่างพื้นที่รวมถึงได้สัมผัสสภาพอากาศที่แตกต่างจากสภาพอากาศของถิ่นที่อยู่อาศัยเป็นการชาร์จพลังชีวิตให้สดชื่น และเตรียมพร้อมในการใช้ชีวิตได้ดีทุกคนสามารถเป็นนักสำรวจได้ แต่ก่อนการเดินทางสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการเตรียมยาสามัญประจำบ้านหรือยาประจำตัวของผู้ที่จะเดินทางติดตัวไปด้วย
การพกยาติดตัวไปด้วยในทุกการเดินทางนอกจากจะสะดวกในการหายาเพื่อทานตามอาการของเราแล้วยังเป็นความจำเป็นหากต้องทานยาในการรักษาอย่างต่อเนื่องเพราะหากเป็นยาที่จำเป็นต้องมีการทานเป็นประจำหรือต่อเนื่องแล้วไม่ได้ทานอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลต่อสุขภาพได้ ดังนั้น ‘ยา’ จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการเดินทางหากยังไม่แน่ใจว่าต้องพกยาอะไรเพื่อเตรียมความพร้อมในการเดินทางบ้างสามารถ Check list ตามนี้ได้เลย
1. ยาแก้ไข้ลดปวด
ส่วนใหญ่ก็จะพกยาพาราเซตามอลขนาด 500 มิลลิกรัม ติดตัวไปกับทริปการเดินทางเพื่อใช้ลดไข้ หรือลดปวดที่อาจเกิดขึ้นอย่างกะทันหันขณะท่องเที่ยว
2. ยาแก้เมารถ เมาเรือ หรือเมาเครื่องบิน
ยาที่แนะนำคือ ไดเมนไฮดริเนต (Dimenhydrinate) ควรรับประทานก่อนออกเดินทาง 30 นาที สำหรับผู้ที่ทราบว่าจะมีอาการข้อควรระวังสำหรับการทานยาตัวนี้คือ จะทำให้มีอาการง่วงนอนอย่างมาก แนะนำว่าหากทานยาตัวนี้แล้วไม่ควรขับรถ
3. ยาแก้แพ้
มีหลายตัวแต่แนะนำให้ใช้ยาแก้แพ้ชนิดไม่ง่วงเช่นตัวยา เซทิไรซีน (cetirizine)จะดีกว่าการทานยาแล้วง่วง ไม่สดชื่น การท่องเที่ยวที่ง่วงไปเที่ยวไปไม่สนุกแน่นอน
4. ยาแก้ไอ ละลายเสมหะ
สำหรับบรรเทาอาการไอละลายเสมหะ
5. ยาสำหรับรักษาอาการทางระบบทางเดินอาหาร
แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด แน่นท้อง ท้องเสีย เช่นยาลดกรด ไซเมทิโคน อัลตร้า คาร์บอน เกลือแร่ โอ อาร์ เอส
6. ยาทากรณีถูกแมลงสัตว์กัดต่อย
อาจเป็นยาแก้แพ้ชนิดทา หรือสเตียรอยด์อ่อน ๆ เช่น ไฮโดรคอร์ติโซน ครีม
7. ยาทาบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ
กรณีมีอาการปวดแข้ง ปวดขา ที่เกิดจากการเดินเที่ยวทั้งวัน
8. ยาทาแผลเช่น ยาเบตาดีน หรือยาปฏิชีวนะชนิดครีม
ใช้สำหรับทาแผลเปิดที่ผิวหนัง
9. พลาสเตอร์
ใช้ปิดแผลกรณีแผลเปิดที่ผิวหนัง รวมทั้งสำลีผ้าก๊อซ ด้วยนะคะ
10. ยาดม หรือ ยาหม่อง
ใช้สำหรับสูดดม และใช้สำหรับทา เมื่อรู้สึกเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม
นอกจากยาดังกล่าวข้างต้นแล้วบางท่านยังต้องเตรียมยาประจำตัวที่ต้องทานเป็นประจำไปด้วย เช่น คนเป็นโรคเบาหวานอาจต้องพกยาโรคเบาหวานคนเป็นโรคความดันจะต้องเตรียมยาความดันโดยเก็บหรือแกะใส่ในกระปุกยาเตรียมไปด้วยห้ามลืมเด็ดขาด
การเตรียมยานั้นต้องตรวจให้ดีว่ายาเหล่านี้หมดอายุหรือยัง ทานครั้งละกี่เม็ดยาเป็นแผงไม่ควรแกะออกจากแผง ยาเม็ดจากขวดให้แบ่งใส่ซองยาและเขียนชื่อยาวิธีการใช้ สรรพคุณของยา วันหมดอายุให้ละเอียดถูกต้องป้องกันความผิดพลาดในการรับประทาน
ยาประจำตัวแต่ละชนิดนั้นจะต้องเตรียมไปให้เพียงพอกับจำนวนวันที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวเพื่อไม่ให้ขาดยา ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพของเราได้ เพราะว่าสุขภาพของเราเป็นสิ่งสำคัญ จึงต้องทำให้ร่างกายเรานั้นมีความแข็งแรง หากมีโรคภัยก็ต้องดูแลด้วยการรับประทานยาให้ครบตามที่แพทย์สั่ง ขณะเดียวกันก็ต้องระวังไม่ให้เกิดโรคใหม่ ๆ ขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เราต้องเดินทางท่องเที่ยว
เรียบเรียงโดย : ภก.ภรร์ชัยญ์ ลิมปิฐาภรณ์
ขอบคุณข้อมูลจาก
Travel medical kit checklist
9 Over-the-Counter Medicines You Should Pack for Every Trip
Pack Smart