ในปัจจุบันยาพารามักถูกนำมาใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดต่างๆ กันอย่างมากมาย โดยมักจะเป็นอาการปวดที่ไม่ถึงขั้นรุนแรงมากนักหรือจะเป็นการกินเพื่อลดไข้ก็ตาม จึงทำให้ยาพาราเป็นอีกหนึ่งยาสามัญประจำบ้านที่ทุกบ้านจำเป็นต้องมีประจำไว้ในตู้ยา เนื่องจากเป็นยาที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย 

วันนี้เราจึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับยาพารามาให้ทุกคนได้ทำความรู้จักตัวยาชนิดนี้ให้มากขึ้น เข้าใจการเลือกซื้อยาพารา ยี่ห้อไหนดี? และส่วนใหญ่ยาพารา ราคาเท่าไหร่? เพราะฉะนั้นวันนี้เรามาทำความรู้จักวิธีการกินยาพารา วิธีใช้ยาพาราอย่างถูกต้องว่าเป็นอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่ดีตามมากันเลยค่ะ


สารบัญบทความ


ทำความรู้จักกับยาพารา

ยาพารา (Paracetamol) มีอีกชื่อหนึ่งว่า อะเซตามีโนเฟน หรือที่ใครหลาย ๆ คนเรียกกันว่า ยาพารา ยาชนิดนี้จัดเป็นกลุ่มยาสำหรับลดไข้ บรรเทาอาการปวดที่ไม่รุนแรงมากนัก เช่น อาการปวดฟัน ปวดศีรษะ ปวดประจำเดือน ปวดกล้ามเนื้อ หรือปวดตามข้อ ยาพาราไม่มีฤทธิ์สำหรับต้านอาการอักเสบหรือบรรเทาอาการปวดที่รุนแรง เช่น อาการปวดจากการผ่าตัดใหญ่หรือปวดมะเร็ง ยาพาราเป็นที่รู้จักและถูกใช้อย่างแพร่หลาย สามารถหาซื้อได้ง่าย มียาพารา ราคาย่อมเยา และยังเป็นยาที่มีความปลอดภัยมากหากมีการใช้อย่างถูกวิธี สามารถกินได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่

โดยกลไกการทำงานของยาพาราจะยับยั้งสารเคมีในสมอง ที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับอาการเจ็บปวด เช่น สารโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) และยาจะช่วยชักนำให้เกิดกลไกการลดอุณหภูมิของร่างกาย


สรรพคุณยาพาราแก้ปวดอะไรได้บ้าง

สรรพคุณ ยา พารา

ยาพารามีสรรพคุณช่วยลดไข้ แก้ตัวร้อน บรรเทาอาการปวดต่าง ๆ ที่ไม่ถึงขั้นเป็นอาการปวดที่รุนแรง เช่น อาการปวดหัว ปวดฟัน ปวดตามกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ปวดประจำเดือน สามารถบรรเทาอาการปวดได้ทุกตำแหน่งในร่างกาย ยกเว้นถ้าหากอาการปวดมีอาการอักเสบร่วมด้วยยาพาราไม่สามารถช่วยให้อาการอักเสบลดลงได้ เนื่องจากยาพาราไม่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ยาพาราเหมาะกับการกินเพื่อบรรเทาอาการปวดเล็กน้อยไปจนถึงอาการปวดระดับปานกลางเท่านั้น


ข้อควรปฏิบัติในการใช้ยาพารา

  • ห้ามใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยาพารา
  • ห้ามใช้ยาพาราเกินขนาดที่แนะนำในฉลาก เอกสารกำกับการใช้ยา และควรใช้ตามคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาพาราร่วมกับยาชนิดอื่นที่มีส่วนผสมของพาราเซตามอล เพราะจะก่อให้เกิดการรับยาเกินขนาดได้
  • สำหรับผู้มีภาวะตับหรือไตผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนกินยาพารา
  • ยาพาราเป็นยาที่รักษาตามอาการ หากไม่มีอาการปวดหรือมีไข้ไม่จำเป็นต้องกินยาพารา
  • ไม่ควรกินยาพาราร่วมกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะส่งผลทำให้ตับทำงานบกพร่องและเกิดภาวะตับอักเสบได้
  • ไม่ควรกินยาพาราติดต่อกันเป็นเวลานานเกินไป เพราะจะส่งผลต่อการทำงานของตับ
  • สามารถกินยาพาราก่อนหรือหลังอาหารก็ได้

ความเข้าใจผิดกับยาพารา

พารา กิน ตอน ไหน

ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการใช้ยาพาราในผู้ป่วยอยู่มากในเรื่องการกินยาพาราดักอาการไข้ไว้ก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการเป็นไข้ ตัวร้อน ไม่สบายตัว ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด แล้วต้องกินยาพาราตอนไหนถึงจะสามารถลดไข้ได้? เนื่องจากยาพาราเป็นยารักษาตามอาการ ถ้าหากยังไม่มีอาการไข้การกินยาไว้ก่อนจึงเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นและเป็นการใช้ยารักษาที่ไม่ก่อให้เกิดประสิทธิผลใด ๆ นอกจากนี้ยังอาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงจากยาได้อีกด้วย ดังนั้นถ้าหากไม่มีอาการไข้ก็ไม่ควรกินยาพาราดักไว้ก่อนนั่นเอง


วิธีใช้ยาพาราให้ปลอดภัย

  • ควรกินยาพาราตามน้ำหนักตัว โดยขนาดยาทั่วไปสำหรับเด็กและผู้ใหญ่จะอยู่ที่ 10-15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
  • กินยาพารา ห่างกันอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง
  • กินยาพาราเฉพาะเมื่อมีอาการปวดหรือมีไข้
  • ไม่ควรกินยาพาราเกิน 8 เม็ด หรือ 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน
  • ไม่ควรกินยาพาราติดต่อกันเป็นเวลานานโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน
  • หากมีการกินยาพาราแล้วไข้ไม่ลดลงภายใน 3 วัน หรืออาการปวดไม่บรรเทาลงภายใน 5 – 10 วัน ควรพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยอาการที่เกิดขึ้นทันที

ผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดหลังใช้ยา

 กิน ยา พารา เยอะ ผล ข้าง เคียง

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังใช้ยาพาราส่วนใหญ่เกิดจากการใช้ยาที่ผิด และส่งผลให้เกิดผลข้างเคียง เช่น การกินยาพาราเยอะเกินไปจนเกิดผลข้างเคียงทำให้ตับทำงานอย่างหนักจนเกิดการทำงานบกพร่องได้ หรือการใช้ยาพาราเกินขนาด กล่าวคือ กินยาพาราเกินกว่าฉลากกำหนด 10-15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม นั่นเอง

โดยอาการที่เกิดขึ้นหลังจากใช้ยาเกินขนาด มักจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร และเมื่อผ่านไป 48 ชั่วโมงจะมีอาการตับอักเสบและภาวะแทรกซ้อนเหมือนตับอักเสบทั่วไป นอกจากนี้การใช้ยาทั้งที่ไม่มีอาการ เช่น การกินยาพาราดักไข้ไว้ก่อน เพื่อป้องกันอาการไข้ ถือว่าเป็นการใช้ยาไม่ถูกต้องและอาจส่งผลข้างเคียงจากยาได้เช่นกัน


วิธีเก็บยาพาราที่ถูกต้อง

  • ควรเก็บยาพาราไว้ในภาชนะบรรจุตั้งต้นจากบริษัทยา ไม่ว่าจะเป็นกระปุกยาเดิม หรือแผงยาเดิม จึงไม่จำเป็นต้องแกะเปลี่ยนภาชนะบรรจุใหม่ และควรปิดฝาให้สนิททุกครั้งหลังการเปิดใช้
  • ควรเก็บยาพาราในที่ที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส เพราะถ้าหากเก็บไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิสูงเกินไปจะทำให้ยาเสื่อมคุณภาพได้
  • ควรเก็บยาพาราให้พ้นสภาพอากาศที่มีความชื้น แสงแดดส่อง เนื่องจากจะทำให้ยาพาราเกิดการแปรสภาพและเสื่อมคุณภาพได้
  • ควรเก็บไว้ในตู้ยาประจำครัวเรือนหรือกล่องยา และเก็บให้พ้นจากมือเด็ก

คำถามที่พบบ่อย

พารา ยี่ห้อ ไหน ดี
1. ยาพาราแก้อะไรบ้าง

ยาพาราสามารถบรรเทาอาการปวดที่เกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ เช่น อาการปวดศีรษะ ปวดท้องประจำเดือน ปวดกล้ามเนื้อ ปวดฟัน หรืออาการปวดอื่น ๆ ที่มีอาการปวดเพียงเล็กน้อยไปจนถึงปานกลาง อาการปวดที่ไม่มีอาการอักเสบร่วม

2. ยาพารา ยี่ห้อไหนดี

ยาพาราเป็นยาสามัญประจำบ้านที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย ทำให้สามารถหาซื้อได้ง่ายและมีให้เลือกหลากหลายยี่ห้อ ไม่ว่าจะเป็นไทลินอล พาราแคป บาคามอล ซาร่า หรือยี่ห้ออื่น ๆ ซึ่งยี่ห้อเหล่านี้อาจมีรูปร่างเม็ดยา ลักษณะแผง สีของตัวยาที่แตกต่างกันออกไป แต่ทุกยี่ห้อจะมีปริมาณยาพาราขนาดเดียวกันไม่ว่ายี่ห้อไหน เม็ดยาลักษณะอย่างไรผลการรักษาคงไม่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นการเลือกยี่ห้อในการกินยาพาราจึงไม่ส่งผลอะไรที่ต่างกัน

3. ยาพารา ราคาเท่าไหร่

ยาพาราเป็นยาสามัญประจำบ้านที่หาซื้อได้ง่าย มีขายตามร้านค้า ร้านขายยาทั่วไป ซึ่งยาพาราราคาถูกที่สุดจะอยู่ที่แผงละประมาณ 12 บาทต่อแผง ซึ่งยี่ห้ออื่น ๆ ก็จะมีราคาที่ใกล้เคียงกันและไม่แพงเช่นเดียวกัน

4. ยาพาราห้ามกินเกินกี่เม็ด

กินยาพารา 500 mg ครั้งละ 1-2 เม็ดตามน้ำหนักตัว ถ้ายังไม่หายสามารถกินยาซ้ำอีกครั้งได้ห่างกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง ไม่ควรกินเกินวันละ 8 เม็ด และไม่ควรกินยาติดต่อกันนานเกิน 5 วัน

5. ยาพาราออกฤทธิ์ ภายในกี่นาที

ยาพาราจะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 10-30 นาที และฤทธิ์ยาจะอยู่ได้อย่างต่อเนื่องนาน 4-6 ชั่วโมง

6. อาการปวดแบบไหนที่ยาพาราไม่ได้ผล

  • อาการปวดขั้นรุนแรง เช่น อาการปวดจากการผ่าตัดใหญ่หรือปวดมะเร็ง
  • อาการปวดแปลก ๆ เช่น อาการปวดร้าว อาการปวดคล้ายเข็มทิ่มแทง อาการปวดที่ร่วมกับอาการชา หรืออาการปวดที่ร่วมกับการอักเสบ ซึ่งอาการปวดเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นที่ระบบเส้นประสาท ยาพาราไม่สามารถบรรเทาอาการปวดลักษณะนี้ได้ ดังนั้นจึงควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษา
  • อาการปวดกระเพาะหรือท้องเสีย สาเหตุมาจากการบีบตัวของลำไส้ เกิดอาการปวดแน่นที่หน้าอก ยาพาราไม่สามารถบรรเทาอาการได้เช่นเดียวกัน

สรุป

คงทราบกันแล้วว่า ยาพาราเป็นยาสามัญประจำบ้านที่คอยช่วยบรรเทาอาการปวดต่าง ๆ ให้เราได้เป็นอย่างดี และถึงแม้ตัวยาพาราจะมีความปลอดภัยมากแต่ถ้าหากใช้ยาพาราติดต่อกันเป็นเวลานานก็อาจส่งผลข้างเคียงแก่ร่างกายได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงอยากจะขอย้ำให้ทุกคนรู้จักวิธีการใช้ยาพาราอย่างถูกต้อง ไม่กินยาพร่ำเพรื่อจะเป็นผลดีที่สุดและให้ทานยาพาราเฉพาะเมื่อมีอาการเท่านั้น


Reference

Philip, D. (2023, Apr 4). Paracetamol Uses, Dosage, Side Effects, Warnings. Drugs.
https://www.drugs.com/paracetamol.html

N.D. (2023). Paracetamol – uses, side effects and how to take it. Healthdirect.
https://www.healthdirect.gov.au/paracetamol