อาการปวดเมื่อยตามตัว เป็นอาการปวดที่สามารถเกิดขึ้นได้ปกติไม่ว่าจะมีไลฟ์สไตล์แบบใดก็ตาม ทั้งคนวัยทำงาน สายรักสุขภาพ หรือจะเป็นการใช้ชีวิตประจำวันโดยทั่วไป เชื่อว่าหลายคนเคยเผชิญกับอาการปวดเมื่อยตามตัวจนทำให้เกิดความไม่สบายตัว โดยเฉพาะเมื่อขยับบริเวณที่ปวดก็ต้องชะงัก หยุดนิ่ง ที่สำคัญอาการปวดเมื่อยตามตัวยังทำให้ประสิทธิภาพในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตลดลงไปอีก ในบทความนี้จึงขอนำสาระสุขภาพดี ๆ เกี่ยวกับอาการปวดเมื่อยตามตัวมาฝาก ตั้งแต่สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวด และวิธีแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย เพื่อให้พร้อมรับมือได้อย่างถูกต้อง
อาการปวดเมื่อยตามตัว คือ
อาการปวดเมื่อยตามตัว (Muscle pain) คือ อาการปวด ตึง หรือเกิดความไม่สบายตัวในบริเวณกล้ามเนื้อที่พบได้บ่อยในชีวิตประจำวัน เช่น กล้ามเนื้อไหล่ กล้ามเนื้อแขน กล้ามเนื้อขา เป็นต้น มีตั้งแต่ระดับเล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง ซึ่งอาการปวดเมื่อยตามตัวเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะใช้ประมาณ 1-5 วันจึงจะหายเป็นปกติ อย่างไรก็ตามนอกจากอาการปวด ตึง ที่เกิดขึ้นแล้ว ยังมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วย อย่างอาการปวดข้อ กล้ามเนื้อกระตุก เป็นต้น
สาเหตุของอาการปวดเมื่อยตามตัว เกิดจากอะไร ?
อาการปวดเมื่อยตัวเป็นอาการปวดที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวันของทุกคน เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ทำอะไรได้ลำบากมากขึ้น เพราะเมื่อขยับร่างกายก็จะรับรู้ได้ถึงอาการปวดเมื่อยที่เป็นอยู่ ซึ่งก่อนที่จะไปทราบถึงวิธีรับมือกับอาการปวดเมื่อยตามตัว มาดูสาเหตุของอาการปวดเมื่อยตามตัวโดยส่วนใหญ่กันว่าเกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง ดังรายละเอียดต่อไปนี้
1. อาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ
สาเหตุของอาการปวดเมื่อยตามตัวสาเหตุแรกคือการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ เช่น การลื่นล้ม หกล้ม เดินแล้วเสียหลัก ตกบันได การยกของหนัก เป็นต้น ซึ่งการเกิดอุบัติเหตุนอกจากจะทำให้เกิดรอยฟกช้ำ เกิดอาการบาดเจ็บแล้ว ยังทำให้เกิดการปวดกล้ามเนื้อ ปวดตามตัว รวมไปถึงการอักเสบ การฉีกขาดได้
2. ออกกำลังกายหนักเกิน
สำหรับคนที่รักสุขภาพ ชื่นชอบการออกกำลังกาย หากออกกำลังกายหักโหมเกินไป ออกกำลังกายติดต่อกันหลายวัน รวมไปถึงการออกกำลังกายผิดท่า ก็สามารถทำให้เผชิญอาการปวดเมื่อยตามตัวได้ เช่น บางท่านอาจจะมีอาการปวดหลัง ปวดเอว เป็นต้น
อ่านสาระสุขภาพดี ๆ เพิ่มเติมเกี่ยวกับอาการปวดที่ทุกคนต้องเคยเผชิญ : ปวดเข่า
3. นอนผิดท่า
การนอนหลับเป็นช่วงเวลาของการพักผ่อน และฟื้นฟูร่างกายให้พร้อมรับกิจกรรมในเช้าวันใหม่ ซึ่งในบางวันเมื่อตื่นมารับเช้าวันใหม่กลับมีอาการปวดเมื่อยตามตัว คอเคล็ด ขยับส่วนต่าง ๆ ของร่างกายแล้วรู้สึกเจ็บแปลบ ทำให้เกิดความไม่สบายตัว สาเหตุเกิดจากการนอนหลับผิดท่า เช่น นอนแบบกึ่งนั่งกึ่งนอน นอนทับแขนตัวเอง นอนขดตัว เป็นต้น ซึ่งการนอนผิดท่าทำให้ร่างกายเกิดการกดทับอยู่ในท่านั้นเป็นเวลานาน เมื่อตื่นมาจึงทำให้เกิดอาการปวดตามเนื้อตามตัวขึ้น
4. นั่งทำงานผิดท่าเป็นประจำทุกวัน
อาการปวดเมื่อยตามตัวถือเป็นอีกหนึ่งอาการที่คนวัยทำงาน โดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศรู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะการนั่งทำงานอยู่กับที่ทำให้บางครั้งอาจมีการนั่งทำงานผิดท่า เช่น นั่งหลังค่อม นั่งหลังงอ นั่งไขว่ห้าง นั่งขัดสมาธิ นั่งก้มหน้าแล้วคอยื่น เป็นต้น ซึ่งการนั่งทำงานผิดท่าเป็นเวลานาน และเป็นประจำทุกวันแบบนี้ส่งผลเสีย ทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยตามร่างกายโดยเฉพาะบริเวณคอ บ่า ไหล่
อาการปวดเมื่อยตามตัว อาจจะเป็นสัญญาณของโรคบางอย่าง
ทราบหรือไม่? แม้อาการปวดเมื่อยตามร่างกายจะเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นและหายไปเองได้ แต่ในบางครั้งอาการปวดเมื่อยตามตัวอาจเป็นสัญญาณของโรคดังต่อไปนี้
- โรคกล้ามเนื้ออักเสบ (Muscle inflammation)
- โรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) หรือโรคปวดกล้ามเนื้อทั่วร่างกายแบบเรื้อรัง
- โรคออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome)
อาการปวดเมื่อยตามตัวแบบไหนที่ควรไปพบแพทย์
แม้อาการปวดเมื่อยตามตัวจะเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน และสามารถหายไปได้เองตามปกติ แต่หากเริ่มสังเกตว่าอาการปวดเมื่อยที่เกิดขึ้นเริ่มมีความผิดปกติ ไม่ควรนิ่งนอนใจปล่อยไว้นาน หากมีสัญญาณเตือนดังต่อไปนี้ แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ และได้รับการรักษาที่เหมาะสม
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- มีอาการปวดเมื่อยตามตัวเพิ่มขึ้น
- อาการปวดเมื่อยตัวไม่ดีขึ้น
- เกิดอาการชา
- รู้สึกเมื่อยเนื้อเมื่อยตัว พร้อมกับมีไข้ร่วมด้วย
- คลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ
- บวม ผื่นแดงขึ้นในบริเวณที่มีอาการปวด
วิธีรักษาและบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามตัว
การรับมือกับอาการปวดเมื่อยตามตัวให้อาการหาย กลับมารู้สึกสบายตัว ขยับร่างกายแล้วไม่เกิดอาการปวดอีกต่อไปก็คือการได้รับการรักษา และบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามตัวที่เหมาะสม ซึ่งวิธีการรับมือเมื่อเกิดอาการปวดเมื่อย มีดังต่อไปนี้
1. ทานยาแก้ปวด
หากพูดถึงวิธีแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกายที่คนส่วนใหญ่จะนึกถึงเป็นอันดับแรก ๆ เมื่อมีอาการปวดเมื่อยนั่นก็คือการรับประทานยาแก้ปวด สำหรับยาแก้ปวดที่สามารถรับประทานได้จะเป็นกลุ่มยาต้านอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal Anti-Inflammatory Drugs: NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ที่ออกฤทธิ์ช่วยลดอาการอักเสบ อาการปวดที่เกิดขึ้นให้เบาลง โดยสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดในระดับปานกลางไปจนถึงรุนแรง
แต่การรับประทานยาดังกล่าว ควรรับประทานทันทีหลังรับประทานอาหาร เนื่องจากกลุ่มยาแก้ปวด NSAIDs มีข้อควรระวังในการใช้ยาที่อาจทำให้เกิดความระคายเคืองในกระเพาะอาหารได้
นอกจากยาแก้ปวด NSAIDs แล้วยังมียาพาราเซตามอล (Paracetamol) ที่สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดเบื้องต้นได้ เช่น ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดฟัน รวมไปถึงอาการเมื่อยตามตัว และช่วยลดไข้ได้อีกด้วย ซึ่งยาพาราเซตามอลสามารถหาซื้อได้ง่ายทั้งร้านสะดวกซื้อ และร้านขายยาทั่วไปอย่างยาบาคามอล ยาพาราเซตามอล 500 มก. เม็ดสีเหลือง สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามตัว ที่มีระดับการปวดเล็กน้อยจนถึงปานกลาง โดยการรับประทานยาพาราเซตามอล เพื่อบรรเทาอาการปวดควรรับประทานให้ห่างกันประมาณ 4-6 ชั่วโมง และภายใน 1 วัน ไม่ควรรับประทานเกิน 4,000 mg ต่อวัน
อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะรับประทานยาแก้ปวดแบบใด ควรปฏิบัติตามข้อควรระวังในการใช้ยา และคำแนะนำของแพทย์ หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด ที่สำคัญหากอาการปวดดีขึ้นแล้วควรหยุดรับประทานยาโดยทันที
อ่านบทความ สาระดี ๆ เพิ่มเติมเกี่ยวกับราคายาพาราเซตามอล ได้ที่ : ยาพาราเซตามอล ราคาเท่าไหร่?
2. ทายาแก้ปวด
เมื่อมีอาการปวดเมื่อยตามตัว ตามร่างกายเกิดขึ้น หากพูดถึงอีกหนึ่งวิธีบรรเทาอาการปวดนอกจากการรับประทานยาหนีไม่พ้นการทายาแก้ปวด ซึ่งมีให้เลือกใช้ตามความเหมาะสมหลากหลายยี่ห้อ แต่หากแบ่งตามประเภทของยาทาแก้ปวดเมื่อยตามตัวแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ยาทาแก้ปวดแบบร้อน และยาทาแก้ปวดแบบเย็น
โดยยาทาแก้ปวดเป็นยาใช้สำหรับภายนอก มีคุณสมบัติในการบรรเทาอาการปวดตึงของกล้ามเนื้อ ช่วยให้อาการปวดเมื่อยตามตัวดีขึ้น เหมาะสำหรับอาการปวดเมื่อยตามตัวที่ไม่รุนแรง โดยทายาในบริเวณที่มีอาการปวดในปริมาณที่พอดี ไม่ควรมาก หรือน้อยจนเกินไป จากนั้นนวดวนจนตัวยาซึมเข้าสู่ผิว ที่สำคัญการใช้ยาทาแก้ปวดคือไม่ควรทาในบริเวณที่มีแผลเปิด หรือเลือดออก เพราะจะส่งผลให้บริเวณดังกล่าวเกิดการอักเสบได้
3. พักกล้ามเนื้อจากการใช้งาน
อีกหนึ่งวิธีการฟื้นฟูกล้ามเนื้อจากอาการปวดเมื่อยตามร่างกายให้มีอาการดีขึ้นคือ พักกล้ามเนื้อจากการใช้งาน เพราะการฝืนใช้กล้ามเนื้อต่อในขณะที่มีอาการปวด หรืออักเสบนั้นนอกจากไม่ส่งผลดีแล้ว จะยิ่งทำให้อาการปวดเมื่อยแย่ลงอีกด้วย สำหรับผู้ที่ออกกำลังกายแล้วเกิดอาการปวดเมื่อยตามตัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ควรพักการใช้กล้ามเนื้อไปก่อน นอกจากผู้ที่ออกกำลังกายแล้ว ผู้ที่ใช้งานกล้ามเนื้อหนัก ๆ จนเกิดอาการปวดก็ควรพักเพื่อให้อาการดีขึ้น
4. ประคบเย็น
การประคบเย็นนอกจากจะเป็นวิธีการที่ช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามตัว อาการกล้ามเนื้อตึง เคล็ดให้ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยให้เกิดความผ่อนคลายอีกด้วย โดยการประคบเย็นสามารถประคบในบริเวณที่มีอาการปวดได้ โดยควรประคบค้างไว้ประมาณ 10-15 นาที สามารถใช้อุปกรณ์ สิ่งของที่มีอยู่ภายในบ้านได้ เช่น น้ำแข็งห่อผ้าสะอาด หรือผ้าชุบน้ำแช่ที่ช่องแช่แข็งแล้วประคบบริเวณที่มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือหากใครต้องการความสะดวกสามารถเลือกใช้เจลประคบเย็นได้เช่นกัน
5. ทำกายภาพบำบัด
การทำกายภาพบำบัด เป็นการฟื้นฟูร่างกายจากอาการปวดเมื่อยตามตัว ซึ่งการกายภาพบำบัดจะช่วยแก้อาการปวดตึงของกล้ามเนื้อให้คลายตัวลง เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการปวดเมื่อยตามตัวสะสมมาเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะบริเวณอาการปวดเมื่อยช่วงคอ บ่า ไหล่ เช่น วัยทำงาน พนักงานออฟฟิศ ที่จำเป็นต้องนั่งท่าเดิมในแต่ละวันเป็นเวลานานจนไม่ได้ลุกขยับร่างกาย
วิธีป้องกันไม่ให้ปวดเมื่อยตามตัว
ถ้าเลือกได้ก็คงไม่มีใครอยากมีอาการปวดเมื่อยตามตัวบ่อย ๆ อย่างแน่นอน จะห้ามไม่ให้เกิดขึ้นเลยก็คงเป็นเรื่องที่ยากเช่นกัน ดังนั้นแม้จะไม่สามารถห้ามอาการปวดเมื่อยตามตัวได้ แต่เราสามารถลดโอกาสอาการปวดด้วยวิธีการป้องกันดังต่อไปนี้
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ
- หลีกเลี่ยงการใช้งานกล้ามเนื้อหนัก หรือติดต่อกันนานจนเกินไป
- วอร์มกล้ามเนื้อ อบอุ่นร่างกายก่อนและหลังออกกำลังกายทุกครั้ง
- หากจำเป็นต้องนั่ง หรืออยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานาน แนะนำให้ยืดกล้ามเนื้อเพื่อให้เกิดความผ่อนคลาย
- ปรับเปลี่ยนท่านั่ง ท่านอนให้ถูกต้องเพื่อป้องกันอาการปวดเมื่อยตามตัว
- เลือกใช้หมอนเพื่อสุขภาพ ช่วยรองรับสรีระบริเวณคอได้เป็นอย่างดี
- เลือกใช้เบาะรองนั่ง หรือเก้าอี้เพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะคนวัยทำงาน หรือผู้ที่มีความจำเป็นต้องนั่งท่าเดิมเป็นเวลานาน
สรุปอาการปวดเมื่อยตามตัว
ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตประจำวันของคนเรา ทั้งการนั่งทำงานผิดท่าเป็นเวลานาน การออกกำลังกายอย่างหักโหม การนอนหลับพักผ่อนผิดท่า หรือแม้กระทั่งอุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวัน มีส่วนทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยตามตัวขึ้นได้ เมื่อเกิดอาการขึ้นแล้วจะรู้สึกไม่สบายตัว ปวดตึงกล้ามเนื้อ และยิ่งต้องขยับร่างกายก็จะยิ่งรับรู้ถึงอาการปวดมากยิ่งขึ้น
ซึ่งการรับมืออาการปวดนั้นมีหลากหลายวิธี ตั้งแต่การรับประทานยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล การทายาแก้ปวด ประคบเย็น หรือแม้กระทั่งการกายภาพบำบัด ก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้มีอาการปวดเมื่อยสะสมมาเป็นระยะเวลานาน
อย่างไรก็ตามหากเริ่มสังเกตว่าอาการปวดเมื่อยตามตัวที่เป็นอยู่ไม่ดีขึ้น รับประทานยา หรือทายาแล้วยังคงมีอาการอยู่ แนะนำให้พบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการปวดที่เป็นอยู่ และรับการรักษาที่เหมาะสมถือเป็นทางออกที่ดีที่สุด
Reference
Carol Eustice. (2023, June 18). Causes of Muscle Pain. Verywellhealth.
https://www.verywellhealth.com/muscle-pain-what-you-should-know-190093
Krista O’Connell. (2023, May 9). What You Need to Know About Muscle Aches and Pains. Healthline.
https://www.healthline.com/health/muscle-aches#home-remedies