เมื่อต้องเผชิญกับแดดจ้า อากาศร้อนจัด หรือแม้กระทั่งการใช้สายตาเป็นเวลานาน ก็มักทำให้หลายคนเกิดอาการปวดหัวไมเกรน ซึ่งอาการปวดหัวไมเกรนที่เกิดขึ้นในแต่ละคนนั้นก็เรียกได้ว่ามีระดับความรุนแรงในการปวดที่ไม่เท่ากัน บางคนปวดหัวในระดับปานกลางที่ทนได้ สามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ตามปกติ แต่กลับบางคนกลับปวดหัวไมเกรนรุนแรง ไม่สามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ จนต้องหยุดพักเพื่อให้อาการไมเกรนดีขึ้นก่อน
ฉะนั้นการรู้ทันอาการจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้รับมือกับอาการไมเกรนได้ วันนี้จึงขอพาไปทำความรู้จักกับสาระดี ๆ เกี่ยวกับอาการปวดหัวไมเกรนตั้งแต่สาเหตุ ปัจจัยกระตุ้น ไปยังถึงการดูแลตัวเองให้พร้อมรับมือได้อย่างถูกวิธี ห้ามพลาดในบทความนี้
สารบัญบทความ
- ปวดหัวไมเกรน (Migraine headache) คือ
- สาเหตุที่ทำให้ปวดหัวไมเกรน
- ระยะอาการปวดหัวไมเกรน
- ปวดหัวไมเกรนตอนมีประจำเดือน
- อาการปวดหัวไมเกรน กับ ปวดหัวธรรมดาทั่วไป ต่างกันยังไง
- วิธีวินิจฉัยปวดหัวไมเกรน
- วิธีบรรเทาแก้อาการปวดหัวไมเกรน
- วิธีดูแลตัวเองเมื่ออาการปวดหัวไมเกรนกำเริบ
- อาหารที่กระตุ้นให้อาการปวดหัวไมเกรนกำเริบ
- วิธีป้องกันอาการปวดหัวไมเกรน
- คำถามที่พบบ่อย
- สรุป
ปวดหัวไมเกรน (Migraine headache) คือ
อาการปวดหัวไมเกรน (Migraine Headache) คืออาการปวดหัวที่มีระดับความปวดตั้งแต่ปานกลางไปจนถึงรุนแรง โดยเป็นอาการปวดหัวที่มีลักษณะอาการปวดตั้งแต่ปวดหัวข้างเดียว เช่น ปวดหัวข้างซ้าย ปวดหัวข้างขวา หรือปวดหัวข้างใดข้างหนึ่งก่อน แล้วค่อยปวดสลับไปมาทั้งสองข้าง อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่มักจะมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับอาการปวดหัวไมเกรนว่าเป็นอาการปวดหัวข้างเดียว แต่จริง ๆ แล้วปวดหัวไมเกรนไม่จำเป็นต้องปวดหัวเพียงข้างเดียว เพราะบางคนก็สามารถมีอาการไมเกรนโดยปวดหัวทั้งสองข้างได้เช่นกัน
สาเหตุที่ทำให้ปวดหัวไมเกรน
ปวดหัวไมเกรนมีสาเหตุมาจากการบีบและคลายตัวของหลอดเลือดแดงในสมอง ซึ่งมีการบีบและคลายตัวมากกว่าปกติ นอกจากนั้นยังสันนิษฐานว่า อาการปวดไมเกรนอาจเกิดจากความผิดปกติของสารเคมีภายในสมองอีกด้วย ด้วยสาเหตุนี้เองจึงทำให้เกิดอาการปวดหัวในลักษณะที่เป็นจังหวะ ปวดหัวเป็นระยะ ๆ ขึ้น นอกจากสาเหตุหลักของอาการไมเกรนที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว สภาพแวดล้อม และสิ่งเร้าภายนอกอื่น ๆ ก็มีส่วนเกี่ยวข้องที่กระตุ้นทำให้เกิดอาการปวดไมเกรนได้ด้วยเช่นกัน
ปัจจัยที่กระตุ้นให้อาการปวดหัวไมเกรนกำเริบ
สำหรับปัจจัยต่าง ๆ ทั้งสภาพแวดล้อม สภาพร่างกาย และสิ่งเร้าอื่น ๆ ที่กระตุ้นให้อาการปวดหัวไมเกรนกำเริบ มีดังต่อไปนี้
- ความเครียด
- การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ การอดนอน
- ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมน เช่น ช่วงที่มีประจำเดือน
- การรับประทานอาหารบางชนิดก็สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการปวดไมเกรนได้ เช่น แอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ช็อกโกแลต เป็นต้น
- การใช้สายตาเป็นเวลานาน
- แสงแดดจ้า แสงระยิบระยับ
- อยู่ในสถานที่ที่มีเสียงดัง เสียงรบกวน
- แพ้กลิ่นฉุน เช่น กลิ่นน้ำหอมบางชนิด
ระยะอาการปวดหัวไมเกรน
สำหรับระยะอาการปวดหัวไมเกรนมีทั้งหมด 4 ระยะ ซึ่งแต่ละระยะจะแสดงอาการที่แตกต่างกันออกไป โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. ระยะก่อนปวดหัวไมเกรน
ระยะแรกคือระยะก่อนปวดหัวไมเกรน (Prodrome) เป็นช่วงก่อนจะเกิดอาการปวดไมเกรนขึ้น ซึ่งในช่วงนี้ผู้ป่วยไมเกรนจะมีอาการเตือนก่อนเกิดอาการจริง อาจเป็นอาการในลักษณะปวดตึงบริเวณคอ หรือมีอาการวิตกกังวล อารมณ์แปรปรวน บางรายอาจรู้สึกกระหายน้ำมากขึ้น ปัสสาวะบ่อย เป็นต้น โดยระยะก่อนปวดหัวไมเกรนจะเกิดขึ้นก่อนประมาณ 1-2 วันก่อนปวดไมเกรน
2. ระยะอาการเตือน
ระยะต่อมาคือระยะอาการเตือน (Aura) ซึ่งในช่วงนี้จะมีอาการเกิดขึ้นหลากหลายอาการ โดยในแต่ละคนก็มีอาการที่เกิดขึ้นต่างกันออกไป หรือไม่เกิดอาการเตือนเลยก็มี แต่ส่วนใหญ่มักจะมีอาการมองเห็นที่ผิดปกติไปจากเดิม เช่น สายตาพร่ามัว เห็นแสงกะพริบ แสงสีขาว เป็นต้น
3. ระยะปวดหัวไมเกรน
สำหรับระยะปวดหัวไมเกรน (Headache) เป็นช่วงที่มีอาการปวดไมเกรน โดยผู้ป่วยจะรู้สึกปวดหัวเป็นจังหวะ ปวดหัวตุบ ๆ ซึ่งอาจจะปวดหัวข้างเดียว เช่น บางคนปวดหัวข้างซ้าย บางคนปวดหัวข้างขวา หรือบางคนก็ปวดไมเกรนทั้งสองข้าง สำหรับระดับความรุนแรงของการปวด มีตั้งแต่ปานกลางไปจนถึงรุนแรงที่ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติ จำเป็นต้องหยุดพักให้อาการดีขึ้นก่อน
4. ระยะหลังมีอาการปวดหัวไมเกรน
ระยะสุดท้ายเป็นระยะหลังมีอาการปวดหัวไมเกรน (Postdrome) โดยอาการจะเกิดขึ้นหลังจากหายปวดไมเกรนแล้ว ซึ่งในระยะนี้จะมีอาการสับสน มีอารมณ์แปรปรวน รู้สึกอ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ บางรายอาจมีอาการท้องเสีย ท้องผูกเกิดขึ้นได้ด้วย
ปวดหัวไมเกรนตอนมีประจำเดือน
อาการปวดไมเกรนในช่วงที่มีประจำเดือนนั้นเป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่อาการดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้หญิงทุกคน โดยอาการปวดไมเกรนช่วงที่มีประจำเดือนมักจะเกิดขึ้นก่อนรอบเดือน 2 วัน ไปจนถึงช่วงที่มีประจำเดือน ซึ่งอาการปวดไมเกรนในตอนที่มีประจำเดือน มีสาเหตุมาจากฮอร์โมนเอสโตรเจนภายในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยฮอร์โมนดังกล่าวมีปริมาณลดลงอย่างรวดเร็ว จึงเป็นสาเหตุกระตุ้นทำให้เกิดอาการปวดไมเกรนขึ้นในตอนที่มีประจำเดือน
อาการปวดหัวไมเกรน กับ ปวดหัวทั่วไป ต่างกันยังไง
หลายคนอาจสงสัยว่า อาการปวดหัวไมเกรนกับอาการปวดหัวปกติแตกต่างกันอย่างไร เนื่องจากมีอาการปวดที่บริเวณศีรษะคล้ายกันจนแทบแยกไม่ออก ซึ่งความแตกต่างของอาการปวดหัวทั้งสองจะแตกต่างกันตรงที่ ปวดหัวไมเกรนอาการจะรุนแรงและยาวนานกว่า รวมถึงปวดตาวันละหลายครั้ง ประมาณ 3-5 ครั้งต่อวัน หรือระยะเวลาในการปวดนานกว่า 4-27 ชั่วโมง พร้อมกับอาจจะมีอาการปวดหัวข้างเดียวคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
วิธีวินิจฉัยอาการปวดหัวไมเกรน
แพทย์จะมีวิธีวินิจฉัยอาการปวดหัวไมเกรนด้วยการจำแนกลักษณะเฉพาะของอาการปวดไมเกรน ที่จะมีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ร่วมอยู่ด้วย โดยจะเริ่มจากการซักประวัติและตรวจร่างกายผู้ป่วยโดยละเอียด ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงของอาการปวดหัวไมเกรน ตำแหน่งที่ปวด ความถี่ ระยะเวลาที่ปวด อาการแทรกซ้อนร่วมอื่น ๆ ที่จะทำให้วินิจฉัยได้ว่าอาการปวดหัวเกิดจากไมเกรน
วิธีบรรเทาอาการปวดหัวไมเกรน
เมื่อเกิดอาการปวดไมเกรนขึ้น การได้รับการบรรเทาอาการปวดที่ถูกวิธีจะช่วยให้อาการปวดหัวไมเกรนดีขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยไมเกรนหลายคนต้องการกันมากที่สุด เราจึงขอแชร์วิธีการบรรเทาอาการปวดหัวไมเกรนดังนี้
1. บรรเทาอาการปวดหัวไมเกรนด้วยยาแก้ปวด
เมื่อปวดหัวไมเกรน วิธีแก้ส่วนใหญ่ที่หลายคนมักนึกถึงอันดับแรกก็คือการกินยาแก้ปวด ที่เป็นยาสามัญประจำบ้านอย่างยาพารา เซตามอล โดยควรรับประทานยาตั้งแต่เริ่มมีอาการเนิ่น ๆ เพื่อให้ฤทธิ์ยาได้ผลดี เพราะถ้าหากปวดหัวไมเกรนมากแล้วค่อยมารับประทานยาทีหลัง อาจจะไม่ช่วยให้อาการปวดหัวไมเกรนดีขึ้นเท่าที่ควร ส่วนยาแก้ปวดกลุ่มที่ออกฤทธิ์แรงควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น เพราะมีผลข้างเคียงที่รุนแรง จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานเสมอ
สำหรับใครที่มีอาการปวดหัวไมเกรนไม่รุนแรง ต้องการยาแก้ปวดหัวที่ช่วยบรรเทาอาการได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ และยังหาซื้อง่ายอย่างบาคามอล ยาพาราเซตามอล 500 มก. เม็ดสีเหลือง ช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะ ปวดหัวไมเกรน ปวดกล้ามเนื้อ รวมไปถึงอาการปวดฟัน และยังช่วยลดไข้ หาซื้อได้ง่ายโดยเฉพาะที่ร้านค้าสะดวกซื้อ 7-11 และร้านค้า Save Drug ในเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ
ศึกษาสาระดี ๆ เพิ่มเติมที่ไม่ควรพลาด : ยาพาราเซตามอล ราคา เท่าไหร่?
2. บรรเทาอาการปวดหัวไมเกรนด้วยยาแก้ปวดไมเกรนเฉพาะ
นอกจากจะใช้ยาแก้ปวดสามัญประจำบ้านแล้ว ยังมียาสำหรับแก้ปวดหัวไมเกรนโดยเฉพาะ ที่ช่วยทำให้หลอดเลือดในสมองหดตัว ลดอาการปวดหัวลงได้ ได้แก่
- ยากลุ่มทริปแทน (Triptan) เช่น Eletriptan, Sumatriptan
- ยากลุ่มเออร์กอต อัลคาลอยด์ (Ergot alkaloids) เช่น Ergotamine
อย่างไรก็ตามยาแก้ปวดไมเกรนโดยเฉพาะควรใช้อย่างถูกวิธี อ่านฉลากยาหรือปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพราะหากใช้ผิดวิธีอาจมีผลข้างเคียงตามมาได้
3. บรรเทาอาการปวดหัวไมเกรนด้วยวิธีอื่น ๆ
การแก้ปวดหัวไมเกรนด้วยวิธีอื่น ๆ สามารถทำได้เช่นกัน โดยแนะนำให้ทำกิจกรรมที่รู้สึกผ่อนคลาย เช่น การออกกำลังกายด้วยท่าเบา ๆ เดินเล่น ทำงานอดิเรกที่ชอบ หรืออยู่ในที่เงียบสงบ รวมไปถึงประคบเย็นที่บริเวณศีรษะ ประคบร้อนที่บริเวณท้ายทอย ดมน้ำมันหอมระเหย พร้อมนวดกดจุดบรรเทาอาการปวดหัวไมเกรน อาบน้ำร้อนสลับกับน้ำเย็น เป็นต้น
วิธีดูแลตัวเองเมื่ออาการปวดหัวไมเกรนกำเริบ
การดูแลตัวเองเมื่อมีอาการปวดหัวไมเกรนกำเริบนั้นเป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน เพราะการดูแลตัวเองในช่วงที่มีอาการไมเกรนจะช่วยให้เกิดความผ่อนคลาย ลดความหงุดหงิดเมื่อเกิดอาการปวดไมเกรนขึ้น ซึ่งวิธีการดูแลตัวเองที่แนะนำมีดังนี้
- เมื่อมีอาการปวดไมเกรนแนะนำให้ประคบเย็นบริเวณขมับ หรือนวดขึ้นเบา ๆ เพื่อให้เกิดความผ่อนคลาย
- หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดอาการปวดไมเกรน
- รับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการ
- นอนหลับพักสายตาจนกว่าอาการปวดหัวไมเกรนจะดีขึ้น
อาหารที่กระตุ้นให้อาการปวดหัวไมเกรนกำเริบ
การรับประทานอาหารก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการปวดไมเกรนได้เช่นกัน แม้อาหารจะเป็นปัจจัยกระตุ้นที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยไมเกรนบางท่าน แต่การทราบว่าอาหารใดบ้างที่สามารถกระตุ้นให้อาการปวดหัวไมเกรนกำเริบ ก็จะสามารถช่วยให้หลีกเลี่ยงอาหารดังกล่าวได้ โดยอาหารที่กระตุ้นอาการมีดังต่อไปนี้
- เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ชีส ผงชูรส น้ำตาลเทียม
- ช็อกโกแลต หรือโกโก้
- อาหารที่มีสารไทรามีน (Tyramine) เช่น อาหารหมักดอง เบคอน แฮม ไส้กรอก เนยแข็ง เป็นต้น
วิธีป้องกันอาการปวดหัวไมเกรน
ไม่ว่าจะปวดหัวในลักษณะใดก็ตามโดยเฉพาะอาการปวดไมเกรน หากมีวิธีที่สามารถช่วยลดความถี่ในการเกิดไมเกรนได้เชื่อว่าหลาย ๆ คนต้องอยากทราบอย่างแน่นอน ซึ่งวิธีที่ช่วยป้องกันอาการปวดหัวไมเกรน ได้แก่
- หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ เช่น แสงแดดจ้า อากาศร้อนจัด กลิ่นฉุน เสียงดัง เป็นต้น
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอในแต่ละวัน ไม่ควรอดนอน
- ลดการรับประทานอาหารที่มีส่วนกระตุ้นทำให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรน
- ลดการใช้สายตาเป็นเวลานาน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
คำถามที่พบบ่อย
ตอบคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับอาการปวดหัวไมเกรน
1. ปวดหัวไมเกรนกินอะไรแล้วหาย ?
มีอาหารหลายชนิดที่ช่วยลดอาการปวดหัวไมเกรนได้ โดยสามารถกินได้ตั้งแต่ก่อนที่จะปวด หรือขณะที่ปวดก็จะบรรเทาให้ปวดน้อยลงได้ เช่น แตงโม น้ำขิง ใบบัวบก ผักโขม งาขาว ปลาแซลมอน ข้าวกล้อง ธัญพืชไม่ขัดสี เป็นต้น โดยถ้าหากกินเป็นประจำก็จะช่วยลดอาการปวดไมเกรนได้
2. มีวิธีแก้ปวดหัวไมเกรนแบบเร่งด่วนไหม ?
วิธีแก้ปวดไมเกรนเร่งด่วน หรือวิธีแก้ปวดไมเกรนเฉียบพลันสามารถทำได้โดยทานยาในกลุ่ม NSAIDs เช่น Naproxen, Ibuprofen ซึ่งจะเป็นตัวยาที่ออกฤทธิ์เร็ว หาซื้อได้ง่าย เหมาะสำหรับรักษาอาการปวดหัวไมเกรนแบบเร่งด่วนได้ดี แต่ควรระมัดระวังการใช้ยา โดยควรกินยาพร้อมหรือหลังอาหารทันที เนื่องจากตัวยาทำให้เกิดความระคายเคืองกระเพาะอาหาร รวมถึงก่อนใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
3. ปวดหัวไมเกรนกินยาอะไรถึงหายปวด ?
เมื่อมีอาการปวดหัวไมเกรนสามารถบรรเทาอาการปวดด้วยยาสามัญประจำบ้านอย่างพาราเซตามอลได้ โดยรับประทานในช่วงที่เริ่มรู้สึกมีอาการปวด จะช่วยทำให้ยาออกฤทธิ์ลดอาการปวดได้ดี หรือสามารถใช้ยาแก้ปวดชนิดอื่น ๆ ได้เช่นกัน แต่ก็ควรใช้ยาอย่างระมัดระวัง เนื่องจากยาแก้ปวดในกลุ่ม NSAIDs หรือยาแก้ปวดหัวไมเกรนโดยเฉพาะ จะมีผลข้างเคียงตามมาถ้าหากใช้ในปริมาณมากเกินไป
สรุป
อาการปวดหัวไมเกรนถือเป็นอาการปวดหัวประเภทหนึ่งที่ปัจจุบันหลาย ๆ คนเผชิญกับอาการนี้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักมีอาการปวดหัวข้างเดียวที่ลามไปถึงกระบอกตา และยังมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย อย่างอาการคลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น อย่างไรก็ตามในบางครั้งอาการปวดไมเกรนอาจมีอาการปวดหัวทั้งสองข้างได้
สำหรับอาการปวดหัวไมเกรนหากมีการรับมือให้ถูกวิธีก็จะช่วยบรรเทาอาการ และป้องกันอาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการ เช่น แสงแดดจ้า เสียงดัง หรือหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารบางชนิด ก็จะช่วยป้องกันอาการไมเกรนให้เกิดน้อยลงได้ด้วยเช่นกัน
Reference
NHS. (2023, Jul 19). Migraine. https://www.nhs.uk/conditions/migraine/
Mayoclinic. (2023, Jul 19). Migraine – Symptoms and causes. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/migraine-headache/symptoms-causes/syc-20360201
Wedmb editorial. (2022, Dec 13). What Is Migraine?. Wedmb.https://www.webmd.com/migraines-headaches/migraines-headaches-migraines