อาการปวดฟันเป็นอาการที่สร้างความรู้สึกหงุดหงิดใจไม่น้อยเมื่อเกิดขึ้น ซึ่งอาการปวดฟันมีตั้งแต่อาการปวดเล็กน้อย ไปจนถึงปวดฟันมากจนแทบทนไม่ได้ ทำให้กระทบการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน การเรียนจนเป็นอุปสรรค ซึ่งบ่อยครั้งเมื่อเกิดอาการปวดฟันขึ้น การรับประทานยาแก้ปวดฟันจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยบรรเทาอาการปวดให้ดีขึ้น แล้วทราบหรือไม่ว่ายาแก้ปวดฟันคืออะไร มีกี่ประเภท ควรเลือกรับประทานยาแก้ปวดฟันยี่ห้อไหนดี วันนี้ขอชวนมาทำความรู้จักสาระดี ๆ เกี่ยวกับยาแก้ปวดฟันที่ทุกคนไม่ควรพลาด
ทำความรู้จัก กับ ยาแก้ปวดฟัน
อาการปวดฟันมีหลากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุจากอาการฟันผุที่มีตั้งแต่ระดับความปวดเล็กน้อย ไปจนถึงปวดมาก ปวดเป็นเวลานาน และแทบจะตลอดเวลาจากอาการผุที่ลุกลามไปจนถึงโพรงประสาทฟัน หรือไม่ว่าจะเป็นอาการปวดฟันจากสาเหตุอื่น ๆ อย่างอาการปวดฟันคุด ฟันร้าว ฟันแตก รวมไปถึงอาการปวดฟันจากโรคเหงือกอักเสบ ทำให้หลายคนมีความต้องการบรรเทาอาการปวดด้วยการรับประทานยาแก้ปวดฟัน
ยาแก้ปวดฟันคืออะไร? ยาแก้ปวดฟันเป็นยาที่ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดฟันให้ดีขึ้น ตั้งแต่ระดับความรุนแรงเล็กน้อย ไปจนถึงรุนแรงมาก โดยการทำงานหลัก ๆ ของยาแก้ปวดฟันนั้นจะออกฤทธิ์เพื่อลดอาการปวด ซึ่งหลายคนมักจะเกิดความเข้าใจผิดว่าการรับประทานยาแก้ปวดฟันนั้นเพียงพอที่จะรักษาอาการปวดฟันให้หายขาดได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วยาแก้ปวดฟันไม่ใช่ยาที่สามารถรักษาอาการปวดฟันให้หายขาดจากต้นตอสาเหตุ ฉะนั้นใครที่เกิดอาการปวดฟันควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการปวดที่เกิดขึ้นโดยทันตแพทย์ เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม
ประโยชน์ของยาแก้ปวดฟัน
สำหรับประโยชน์ของยาแก้ปวดฟันนั้น จะช่วยบรรเทาอาการปวดฟันที่สร้างความหงุดหงิดทางอารมณ์ และเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวันให้มีอาการดีขึ้น มีอาการปวดน้อยลง แต่การรับประทานยาแก้ปวดฟันจะไม่ช่วยให้อาการปวดฟันที่เกิดขึ้นหายขาด เป็นเพียงการบรรเทาอาการชั่วคราวเท่านั้น
ประเภทของยาแก้ปวดฟัน
ยาแก้ปวดฟันมีหลากหลายประเภท โดยแต่ละประเภทมีความเหมาะสมกับความรุนแรงของการปวดฟันที่แตกต่างกันออกไป โดยส่วนใหญ่แล้วยาที่ใช้แก้ปวดฟันสามารถแบ่งออกเป็นแต่ละประเภทดังนี้
1. พาราเซตามอล (Paracetamol)
พาราเซตามอล (Paracetamol) หรือยาพารา มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าอะเซตามีโนเฟน (Acetaminophen) เป็นยาสามัญประจำบ้านที่มีข้อบ่งใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดต่าง ๆ เช่น เป็นยาแก้ปวดหัว บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ เป็นยาแก้ปวดฟัน ปวดประจำเดือน รวมไปถึงช่วยลดไข้ ซึ่งพาราเซตามอลจะมีการออกฤทธิ์ไปที่ระบบประสาทส่วนกลางให้ลดการสร้าง และการหลั่งสารพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandin) พร้อมช่วยยับยั้งสารก่อให้เกิดไข้ที่ศูนย์ควบคุมอุณหภูมิภายในสมองอีกด้วย
โดยพาราเซตามอลชนิดเม็ดที่มีขนาด 500 มิลลิกรัม รับประทานเพื่อบรรเทาอาการปวดและลดไข้นั้น แนะนำให้รับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด ในแต่ละครั้งให้ห่างกัน 4-6 ชั่วโมง ไม่เกินวันละ 8 เม็ด ควรรับประทานในขณะที่มีอาการปวด และที่สำคัญไม่ควรรับประทานยาติดต่อกันเกิน 5 วัน
ผู้ที่มีอาการปวดฟันสามารถหาซื้อพาราเซตามอลได้ตามร้านขายยาและร้านสะดวกซื้อทั่วไป อาจเลือกซื้อยาบาคามอล ซึ่งก็คือคือพาราเซตามอลยี่ห้อหนึ่ง ที่จะช่วยบรรเทาอาการปวดฟัน ลดไข้ ปวดกล้ามเนื้อ สามารถหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยา และร้านสะดวกซื้อทั่วไปโดยเฉพาะที่ 7-11 และ Save Drug ทุกสาขา
2. ยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)
ยาแก้ปวดฟันตัวต่อมาคือ ยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ได้แก่ ยาพอนสแตน (Ponstan), ไพร็อกซิแคม (Piroxicam), ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen), แอสไพริน เป็นต้น ซึ่งมีประสิทธิภาพช่วยลดอาการปวดฟัน ให้มีความรุนแรงน้อยลง นิยมใช้เป็นยาแก้ปวดฟันคุด ส่วนใหญ่แล้วการรับประทานยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์จะรับประทานเพื่อบรรเทาอาการปวดฟันที่มีความรุนแรงในระดับปานกลาง ไปจนถึงมาก
โดยยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์จะมีหลักการในการออกฤทธิ์คือทำการยับยั้งเอนไซม์ Cyclooxygenase ในกระบวนการสร้างพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ทำให้ช่วยบรรเทาอาการปวดฟันให้เบาลง
3. เบนโซเคน (Benzocaine)
เบนโซเคน (Benzocaine) คือยาชาเฉพาะจุดที่มีทั้งรูปแบบครีม สเปรย์ แบบหยอด หรือแม้กระทั่งแบบอม ซึ่งเบนโซเคนสามารถช่วยลดอาการปวดได้ โดยออกฤทธิ์ทำให้บริเวณที่เกิดอาการปวดรู้สึกชา สามารถใช้เพื่อบรรเทาอการปวดได้หลายแบบ เช่น อาการปวดฟัน ปวดเหงือก ปวดแผลภายในช่องปาก เป็นต้น อย่างไรก็ตามเบนโซเคนเป็นยาที่ต้องจ่ายโดยแพทย์และเภสัชกรเท่านั้น ไม่สามารถซื้อมาใช้ได้เองเมื่อมีอาการปวดฟัน
4. เมโทรนิดาโซล (Metronidazole)
เมโทรนิดาโซล (Metronidazole) เป็นยาปฏิชีวนะที่ช่วยฆ่าเชื้อ หยุดยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียชนิดที่เติบโตได้โดยไม่ต้องพึ่งพาออกซิเจน (Anaerobic Bacteria) และโปรโตซัว หรือสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว (Protozoa) ส่วนใหญ่จะใช้รักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรียตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น กระเพาะอาหาร ตับ ผิวหนัง ช่องคลอด ปอด หัวใจ กระแสเลือด อาจใช้ยานี้เป็นยาแก้ปวดทางอ้อม กรณีที่มีการติดเชื้อที่ไวต่อยาชนิดนี้ ช่วยบรรเทาอาการปวดฟันร่วมกับยาแก้ปวดชนิดอื่น
5. ยาแก้อักเสบ หรือยาในกลุ่มต้านเชื้อแบคทีเรีย
มาถึงยาแก้ปวดฟันประเภทสุดท้ายคือยาแก้อักเสบ หรือ ยาในกลุ่มต้านเชื้อแบคทีเรีย เป็นยาที่ช่วยแก้อาการปวดทางอ้อม โดยใช้กับผู้ที่มีอาการปวดฟันที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียจนทำให้เหงือกอักเสบ เหงือกบวม หรือเป็นหนอง โดยยาจะทำให้อาการติดเชื้อหายไป และอาการปวดหายไปด้วย ยาดังกล่าวมีหลายชนิด เช่น เตตร้าซัยคลิน (Tetracyclines), อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin), เพนนิซิลิน (Penicillin) และ เลโวฟล็อกซาซิน (Levofloxacin) เป็นต้น
ยาแก้ปวดฟันอันตรายไหม
จริง ๆ แล้ว การรับประทานยาแก้ปวดฟันกะทันหันเพื่อบรรเทาอาการปวดฟันให้ดีขึ้นนั้นไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายแต่อย่างใด หากมีการใช้ยาแก้ปวดฟันอย่างถูกต้อง เหมาะสม ตามคำแนะนำฉลากการใช้ยา และตามคำแนะนำของเภสัชกร เพราะยาแก้ปวดฟันบางประเภทอาจมีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ระหว่างใช้ได้ เช่น ระคายเคืองกระเพาะอาหาร หรืออาจทำให้เกิดอาการมึนงง วิงเวียนศีรษะได้ เป็นต้น
เลือกกินยาแก้ปวดฟัน ยี่ห้อไหนดี
การเลือกยาแก้ปวดฟันเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดฟันให้ดีขึ้น ในขณะที่รอไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจอาการ หรือใช้เป็นวิธีบรรเทาอาการปวดหลังถอนฟันนั้น อันดับแรกควรเลือกจากระดับความรุนแรงของอาการปวดฟันเป็นหลัก เพราะยาแก้ปวดฟันแต่ละประเภท แต่ละยี่ห้อ ตัวยาแต่ละตัว เหมาะกับความรุนแรงของอาการปวดฟันที่แตกต่างกันออกไป นอกจากนั้นยังควรเลือกยาแก้ปวดฟันที่ได้มาตรฐานความปลอดภัย โดยควรได้รับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ด้วย
แนะนำวิธีบรรเทาอาการปวดฟันด้วยตัวเองง่าย ๆ
แม้ว่าอาการปวดฟันจะสร้างความหงุดหงิดใจไม่น้อยเมื่อมีอาการ แต่หากมีอาการไม่มาก ไม่ถึงขั้นจำเป็นที่จะต้องรับประทานยาแก้ปวดฟันแล้วยังมีวิธีอื่น ๆ ที่สามารถบรรเทาอาการปวดฟันได้ด้วยตัวเอง โดยสามารถนำไปปฏิบัติตามง่ายๆ ได้ดังต่อไปนี้
- ประคบเย็นที่แก้มเมื่อเกิดอาการปวดฟันประมาณ 20 นาที
- อมเกลือในบริเวณที่ปวดฟันเป็นเวลาประมาณ 30 วินาที และบ้วนทิ้ง
- บ้วนปากด้วยน้ำเกลืออุ่น ๆ เพื่อบรรเทาอาการปวดฟัน
- หากเกิดอาการปวดฟันจากสาเหตุเศษอาหารเข้าไปติดในบริเวณซอกฟัน แนะนำให้ใช้ไหมขัดฟันขัดตามบริเวณร่องฟันเพื่อนำเศษอาหารออก
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหาร หรือดื่มเครื่องดื่มที่เย็นจัด เช่น ไอศกรีม น้ำแข็ง รวมไปถึงอาหารเครื่องดื่มที่ร้อนจัดด้วย
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหาร หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีรสเปรี้ยวจัด รสหวานจัด
- งดเคี้ยวของแข็ง หรือออกแรงกัดฟันโดยไม่จำเป็น
- เลือกรับประทานอาหารอ่อน ๆ อาหารที่สามารถเคี้ยวได้ง่าย ไม่ต้องออกแรงเคี้ยวเยอะ
คำถามที่พบบ่อย
ตอบคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับยาแก้ปวดฟัน
ใน 7-11 มียาแก้ปวดฟันขายไหม
สำหรับใครที่มีอาการปวดฟันต้องการซื้อยาแก้ปวดฟันที่ 7-11 สาขาใกล้บ้านสามารถเลือกซื้อได้ในบริเวณโซนขายยาได้ โดยยาแก้ปวดฟันที่มีขายจะเป็นพาราเซตามอล ที่เป็นยาสามัญประจำบ้านทั่วไป มีสรรพคุณครอบคลุมบรรเทาอาการปวดในจุดต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการปวดฟันในเบื้องต้นได้ อย่างเช่น บาคามอล ยาพาราเซตามอล 500 มก. เม็ดสีเหลือง บรรเทาอาการปวดฟัน ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ลดไข้ และยาบาคามอลชนิดน้ำเชื่อม เป็นยาพาราสำหรับเด็ก ปลอดภัยปราศจากแอลกอฮอล์
อ่านบทความเพิ่มเติม ยาพาราเซตามอล ราคาเท่าไหร่?
สรุป
ยาแก้ปวดฟันเป็นยาที่ช่วยบรรเทาอาการปวดฟันให้ดีขึ้น ไม่ได้มีสรรพคุณช่วยรักษาให้อาการปวดฟันหายขาด ซึ่งยาแก้ปวดฟันมีหลากหลายประเภท เช่น พาราเซตามอล ยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ เบนโซเคน เมโทรนิดาโซล ยาแก้อักเสบ หรือยาในกลุ่มต้านเชื้อแบคทีเรีย
แต่สำหรับท่านใดที่มีอาการปวดฟันในระดับที่ไม่รุนแรง อยู่ในระดับที่เล็กน้อยสามารถใช้วิธีการอื่น ๆ เช่น การประคบเย็นบริเวณแก้ม อมเกลือ บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ เพื่อบรรเทาอาการเบื้องต้นได้ อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญที่สุดหากต้องการให้อาการปวดฟันหายขาด ควรเข้ารับการวินิจฉัยอาการโดยทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างตรงจุดจะดีที่สุด
Reference
Louise Morales-Brown. (2023, Feb 10). Best medication for toothache: Types. Medicalnewstoday. https://www.medicalnewstoday.com/articles/best-medication-for-toothache#topical-anesthetics
Philip, D. (2023, Apr 4). Paracetamol Uses, Dosage, Side Effects, Warnings. Drugs. https://www.drugs.com/paracetamol.html
Shawn Watson. (2023, May 8). The Most Effective Toothache Medicine. Verywellhealth. https://www.verywellhealth.com/otc-dental-pain-relief-1059309