อาการไข้ถือเป็นอาการเจ็บป่วยที่สามารถเกิดขึ้นกับทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยไหน เพศใดก็สามารถเป็นไข้ได้ ซึ่งเมื่อเกิดอาการตัวร้อน วัดอุณหภูมิร่างกายแล้วพบว่ามีไข้ วิธีการลดไข้จึงเป็นสิ่งแรกที่ทุกคนนึกถึง ไม่ว่าจะวิธีลดไข้แบบเร่งด่วน วิธีลดไข้แบบเร็วที่สุดแบบมีประสิทธิภาพ ช่วยให้อาการดีขึ้น จะวิธีใดก็ตามเพื่อให้ร่างกายหายจากอาการดังกล่าว ซึ่งวิธีลดไข้มีหลากหลายวิธีที่จะช่วยระบายความร้อน ลดอุณหภูมิของร่างกายให้กลับมาเป็นปกติ แล้ววิธีลดไข้มีอะไรบ้าง วันนี้จะมาแชร์สาระความรู้เกี่ยวกับวิธีลดไข้ที่ใช้ได้ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ ในบทความนี้!
อาการตัวร้อนเกิดจากอะไร
ก่อนจะไปทราบเกี่ยวกับวิธีลดไข้ มาทำความรู้จักเกี่ยวกับอาการตัวร้อนกันก่อนว่า อาการตัวร้อนเกิดจากอะไร มีลักษณะอาการอย่างไรบ้าง?
อาการตัวร้อน หรืออาการไข้ (Fever) เป็นอาการที่อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มขึ้นสูงจากปกติ สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งทารก เด็ก และผู้ใหญ่ โดยทั่วไปแล้วร่างกายของคนเราจะมีอุณหภูมิอยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส อาการไข้จึงเป็นอาการที่ร่างกายมีอุณหภูมิ 37.5 องศาเซลเซียส หรือมากกว่านั้น
โดยอาการเป็นไข้ตัวร้อนเกิดจากสาเหตุโรค หรืออาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ การอักเสบ การติดเชื้อ อาหารเป็นพิษ การตากแดด และยังรวมไปถึงผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน หรือยาบางชนิดได้อีกด้วย แม้ว่าอาการเป็นไข้จะเป็นอาการที่อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มขึ้นสูงกว่าปกติ แต่อาจมีอาการอื่นๆ ที่สามารถพบได้ในขณะที่เป็นไข้ด้วย เช่น
- รู้สึกร้อนๆ หนาวๆ
- ปวดหัว
- มีอาการปวดเมื่อยตามตัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- อ่อนเพลีย
- ความอยากอาหารลดลง
- เจ็บคอ ไอ มีน้ำมูก
- ปัสสาวะแสบขัด
อุณหภูมิเท่าไหร่ถึงจะเรียกว่ามีไข้สูง
เมื่อมีอาการเป็นไข้จำเป็นต้องมีการวัดอุณหภูมิของร่างกายอยู่เสมอ เพื่อให้ทราบว่าอาการไข้ที่เป็นอยู่นั้นอยู่ในระดับความรุนแรงใด โดยอาการไข้มีระดับความรุนแรงตั้งแต่
- อาการไข้ต่ำ (Low Grade Fever) 37.5 – 38.4 องศาเซลเซียส
- อาการไข้ปานกลาง (Medium Grade Fever) 38.5 – 39.4 องศาเซลเซียส
- อาการไข้สูง (High Grade Fever) 39.5-40.4 องศาเซลเซียส
จากการแบ่งระดับความรุนแรงของอาการไข้จึงสามารถสรุปข้อสงสัยได้ว่าอาการไข้สูงเป็นอาการที่เมื่อวัดไข้แล้วร่างกายมีอุณหภูมิ 39.5-40.4 องศาเซลเซียสนั่นเอง
วิธีลดไข้สำหรับเด็ก
จากที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าอาการไข้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในเด็กนั้นเมื่อมีอาการตัวร้อน เป็นไข้ขึ้นมาแล้ว คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองจำเป็นต้องดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างมาก เพราะหากปล่อยให้ไข้สูงอาจทำให้เกิดอาการชักได้ โดยวิธีลดไข้สำหรับเด็กที่ควรปฏิบัติเมื่อบุตรหลานมีอาการ ควรปฏิบัติดังต่อไปนี้
- รับประทานยาพาราเด็ก : วิธีลดไข้เด็กวิธีแรกคือการรับประทานยาพาราเด็ก โดยยาพาราเด็กเป็นยาพาราเซตามอลในรูปแบบน้ำเชื่อมสามารถรับประทานได้ง่าย ยาพาราเด็กมีคุณสมบัติช่วยบรรเทาอาการปวดต่างๆ เช่น ปวดหัว ช่วยลดไข้ได้อย่างมีประสิทธิภาพปราศจากแอลกอฮอล์ โดยการรับประทานยาพาราเด็กควรใช้ให้เหมาะสมกับน้ำหนักตัว และช่วงอายุของเด็ก
- การเช็ดตัว : เป็นอีกหนึ่งวิธีลดไข้ที่มีประสิทธิภาพ เพราะการเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่น หรือน้ำอุณหภูมิห้อง จะทำให้หลอดเลือดเกิดการขยายตัว จึงสามารถระบายความร้อนของร่างกายเด็ก ทำให้ไข้ลดลงได้เป็นอย่างดี และยังป้องกันอาการไข้สูง
- สวมใส่เสื้อผ้าที่สามารถระบายอากาศได้ดี : การสวมเสื้อผ้าบางๆ ที่ใส่แล้วไม่ร้อน ระบายอากาศได้ดี จะส่งผลดีต่อร่างกายของเด็กเมื่อมีอาการไข้ เพราะจะทำให้ระบายอุณหภูมิความร้อนออกจากร่างกายได้เป็นอย่างดีเมื่อเทียบกับการสวมเสื้อผ้าหนาๆ
- การดื่มน้ำ : นอกจากวิธีลดไข้ด้วยการรับประทานยา และเช็ดตัวแล้ว การดื่มน้ำเมื่อมีอาการไข้ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยลดไข้ เพราะการดื่มน้ำจะช่วยทดแทนน้ำที่ร่างกายสูญเสียไปในขณะที่มีไข้
- อยู่ในที่อากาศถ่ายเทสะดวก : สถานที่ อุณหภูมิของห้องก็มีส่วนสำคัญ การอยู่ในสถานที่ที่อากาศสามารถถ่ายเทสะดวกถือเป็นวิธีลดไข้ในเด็กที่ไม่ควรมองข้าม โดยสถานที่ที่นอนพักอากาศควรถ่ายเทได้ดี ไม่ร้อน ไม่อับ หรือหนาวจนเกินไป
วิธีลดไข้สำหรับผู้ใหญ่
สำหรับวิธีลดไข้ในผู้ใหญ่จะมีความคล้ายคลึงกับวิธีการลดไข้สำหรับเด็ก ซึ่งวิธีลดไข้สำหรับผู้ใหญ่ควรปฏิบัติดังต่อไปนี้
- รับประทานยาเพื่อลดไข้ : วิธีลดไข้ขั้นพื้นฐานวิธีแรกคือการรับประทานยา โดยยาที่มีคุณสมบัติช่วยลดไข้ บรรเทาอาการให้ดีขึ้น ได้แก่ ยาแอสไพริน ยาไอบูโพรเฟน ยาพาราเซตามอล เป็นต้น ซึ่งยาที่กล่าวมาสามารถหาซื้อได้ง่าย มีจำหน่ายตามร้านขายทั่วไป โดยเฉพาะยาพาราเซตามอลเป็นยาที่มีความปลอดภัย มีผลข้างเคียงต่ำอย่างยาบาคามอล ยาเม็ดสีเหลือง เป็นยาพาราเซตามอล 500 มก. มีคุณสมบัติช่วยบรรเทาอาการปวดต่างๆ และช่วยลดไข้
- เช็ดตัวลดไข้ : การเช็ดตัวเป็นวิธีลดไข้ที่สามารถทำได้ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่เมื่อมีอุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น ซึ่งถือเป็นวิธีลดไข้ที่ช่วยทำให้อุณหภูมิร่างกายลดลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- สวมเสื้อผ้าที่ใส่สบาย ระบายอากาศได้ดี : เสื้อผ้าก็เป็นอีกหนึ่งวิธีลดไข้ที่ไม่ควรมองข้าม โดยเมื่อมีไข้ และเช็ดตัวเสร็จเรียบร้อยแล้วควรเลือกใส่เสื้อผ้าที่ใส่สบาย ระบายอากาศได้ดีก็จะช่วยให้อาการไข้ดีขึ้นด้วย
- พักผ่อนให้เพียงพอ : เมื่อไม่สบาย มีอาการไข้ หรือแม้กระทั่งไม่ได้มีอาการเจ็บป่วย สิ่งสำคัญที่ควรปฏิบัติอยู่เสมอคือการพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟู มีสุขภาพที่แข็งแรง
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ย่อยง่าย : การรับประทานอาหารก็เป็นสิ่งสำคัญ สำหรับผู้ใหญ่ที่มีไข้ ไม่สบาย แนะนำให้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และย่อยง่ายจะดีต่อร่างกาย
- ดื่มน้ำ : วิธีลดไข้ผู้ใหญ่วิธีสุดท้ายคือการดื่มน้ำ ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ และยังทำให้เพิ่มความเย็นภายในร่างกาย ช่วยให้อุณหภูมิลดลง
วิธีเช็ดตัวเพื่อลดไข้
การเช็ดตัวถือเป็นอีกหนึ่งวิธีนอกจากการรับประทานยาที่สามารถช่วยลดไข้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อเช็ดอย่างถูกต้อง โดยการเช็ดตัวจะเป็นการใช้น้ำในการช่วยถ่ายเทอุณหภูมิความร้อนออกจากร่างกาย เมื่ออุณหภูมิของร่างกายลดลง จึงทำให้อาการไข้ดีขึ้น
แล้ววิธีลดไข้ด้วยการเช็ดตัวที่ถูกต้องควรทำอย่างไร มาดูพร้อมๆ กันดังต่อไปนี้
- เตรียมน้ำสะอาด โดยควรเป็นน้ำอุณหภูมิห้อง หรือน้ำอุ่นใส่ภาชนะ และผ้าสำหรับเช็ดตัว
- ถอดเสื้อผ้าออก เพื่อให้สามารถเช็ดตัวลดไข้ได้สะดวก
- นำผ้าชุบน้ำ แล้วบิดผ้าให้หมาด
- เริ่มเช็ดตัวลดไข้โดยเริ่มจากบริเวณใบหน้า
- เมื่อเช็ดบริเวณใบหน้าเสร็จเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นให้เช็ดที่บริเวณแขน และขาทั้ง 2 ข้างต่อ
- เช็ดบริเวณซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ และลำตัวด้านหน้า
- เมื่อเช็ดเสร็จเรียบร้อยแล้ว จากนั้นจับตัวพลิกตะแคงเพื่อเช็ดตัวด้านหลัง
- เช็ดตัวทั่วทุกบริเวณแล้ว จากนั้นเช็ดซ้ำอีก 2-3 ครั้ง เมื่อเช็ดซ้ำเรียบร้อยแล้วจากนั้นซับตัวให้แห้ง
- เมื่อซับตัวแห้งเรียบร้อย ให้ใส่เสื้อผ้ากลับปกติโดยควรใส่เสื้อผ้าที่สามารถระบายอากาศได้ดี
อย่างไรก็ตามวิธีการเช็ดตัวลดไข้ควรเช็ดย้อนรูขุมขนเพื่อให้ร่างกายสามารถระบายความร้อนออก พร้อมกับทำควบคู่กับการรับประทานยาลดไข้ และหลังจากเช็ดเสร็จประมาณ 15-30 นาที ควรวัดอุณหภูมิร่างกายอีกครั้งว่าไข้ลดหรือไม่ หากไข้ไม่ลดลง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม
อุปกรณ์ที่ต้องสำหรับเช็ดตัว
สำหรับอุปกรณ์ที่ต้องสำหรับเช็ดตัวมีดังต่อไปนี้
- ผ้าขนหนูสำหรับเช็ดตัว (ประมาณ 2 ผืน เพื่อใช้เช็ดสลับกัน)
- ผ้าผืนเล็กสำหรับวางไว้บริเวณศีรษะ และตามบริเวณข้อพับต่างๆ เช่น ซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ (ประมาณ 2 ผืน เพื่อใช้เช็ดสลับกัน)
- ภาชนะใส่น้ำ
- น้ำอุณหภูมิห้อง
ข้อควรระวังในการกินยาลดไข้
การรับประทานยาลดไข้ถือเป็นวิธีการลดไข้ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งยาลดไข้ที่คนส่วนใหญ่นิยมรับประทานคือยาพาราเซตามอล โดยยาพาราเซตามอลถือเป็นยาสามัญประจำบ้าน มีคุณสมบัติช่วยบรรเทาอาการปวดต่างๆ ทั้งอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดหัว ปวดฟัน ปวดประจำเดือน และยังช่วยลดไข้ ซึ่งเป็นยาที่มีผลข้างเคียงต่ำ และปลอดภัยเมื่อมีการใช้อย่างถูกวิธี โดยการทราบถึงข้อควรระวังในการใช้ยาพาราเซตามอลรวมไปถึงยาชนิดอื่นๆ ก็สำคัญเช่นเดียวกัน
สำหรับการใช้ยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้ให้เกิดความปลอดภัย มีข้อควรระวังในการใช้ ดังนี้
- หากมีประวัติแพ้ยา ไม่ควรรับประทาน
- รับประทานเมื่อมีอาการไข้ และเว้นระยะในการใช้ทุก 4-6 ชั่วโมง
- ไม่ควรรับประทานยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้ติดต่อกันเกิน 5 วัน
- ไม่ควรรับประทานยาเกินขนาด โดยใน 1 วันไม่ควรรับประทานเกิน 4000 มก. หรือ 8 เม็ด และปฏิบัติตามเอกสารกำกับยาที่ระบุไว้อย่างเคร่งครัด
- ไม่ควรใช้ยาในผู้ที่เป็นโรคตับ
- หลีกเลี่ยงรับประทานร่วมกับยากลุ่มอื่นที่มีส่วนผสมของพาราเซตามอล
อาการไข้แบบไหนที่ต้องไปพบแพทย์
อย่างที่ทราบกันว่าไม่ว่าจะเด็ก หรือผู้ใหญ่ก็สามารถมีอาการไข้ได้ทั้งนั้น ซึ่งนอกจากวิธีลดไข้อย่างถูกต้องไม่ว่าจะเป็นการรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการ หรือแม้กระทั่งวิธีการเช็ดตัวลดไข้แล้ว อีกหนึ่งเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ และไม่ควรมองข้ามเลยก็คืออาการไข้ที่ผิดปกติทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่ หากเกิดขึ้นแล้วควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม
อาการไข้ในเด็กที่ต้องไปพบแพทย์
- รับประทานยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลด อาการไม่ดีขึ้น
- มีอาการซึม รู้สึกอยากอาหารลดลง
- ไอ หอบ
- อาเจียน หรือท้องเสีย
- ถ่ายเป็นมูกเลือด
- ปวดหัวอย่างรุนแรง
- มีอาการไข้ติดต่อกัน 5-7 วัน
อาการไข้ในผู้ใหญ่ที่ต้องไปพบแพทย์
- มีอาการไข้สูง เหงื่อออกมาก
- มีอาการปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัวมาก
- หายใจลำบาก มีอาการเจ็บหน้าอก
- มีอาการคอเคล็ด คอบวม
- ไอมีเสมหะสีน้ำตาล หรือสีเขียว
- คลื่นไส้ อาเจียน
- มีผื่นขึ้น
- มีอาการหนาวสั่น ตัวเย็น
- รับประทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น
- มีอาการซึม
- ชักกระตุกอย่างต่อเนื่อง
คำถามที่พบบ่อย
ตอบคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับวิธีลดไข้
1. เช็ดตัวลดไข้ ต้องใช้น้ำอะไร
สำหรับวิธีลดไข้ด้วการเช็ดตัวควรใช้น้ำอุณหภูมิปกติ หรือน้ำอุ่นในการเช็ดตัว โดยไม่ควรเป็นน้ำที่ร้อน หรือเย็นจนเกินไป โดยเฉพาะการใช้น้ำเย็นในการเช็ดตัวจะทำให้เกิดร่างกายเกิดอาการหนาวสั่น และระบายอุณหภูมิความร้อนได้น้อยจากอุณหภูมิของน้ำเย็นจึงทำให้หลอดเลือดเกิดการหดตัว
2. ไข้ 38 องศา 39.5 องศา ถือว่าอันตรายไหม
หากเป็นไข้ และได้มีการวัดอุณหภูมิร่างกายแล้วพบว่ามีไข้ 38-39.5 องศาเซลเซียส จัดเป็นระดับความรุนแรงของไข้ที่อยูู่ในระดับปานกลางจนถึงสูง ซึ่งจะพิจารณาว่าอันตรายหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับอาการอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในขณะเป็นไข้ด้วย
โดยหากมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น หนาวสั่น เหงื่อออก ปวดหัวมาก รับประทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น ฯลฯ ถือว่าอันตรายควรไปพบแพทย์เพื่อโดยทันที แต่หากมีไข้ในอุณหภูมิดังกล่าว และไม่มีอาการที่ควรไปพบแพทย์ ยังถือว่าเป็นอาการที่ไม่น่ากังวล สามารถปฏิบัติตามวิธีลดไข้ต่างๆ เช่น เช็ดตัวลดไข้ รับประทานยา เพื่อให้อาการดีขึ้น และคอยวัดอุณหภูมิร่างกายอยู่เสมอ
สรุป
วิธีลดไข้ที่มีประสิทธิภาพมีตั้งแต่การรับประทานยาลดไข้ การเช็ดตัวเพื่อระบายความร้อนออกจากร่างกาย การดื่มน้ำ สวมใส่เสื้อผ้าที่สบาย ระบายอากาศได้ดี ฯลฯ อย่างไรก็ตามหากสังเกตเห็นความผิดปกติว่าในขณะที่เป็นไข้มีอาการที่ควรรีบไปแพทย์ เช่น ไข้สูงทานยา เช็ดตัวแล้วไม่ดีขึ้น ไข้ไม่ลด ปวดหัวมาก อาเจียน เหงื่อออก หนาวสั่น หายใจลำบาก ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรรีบไปพบแพทย์โดยทันที
Reference
Clevelandclinic. (2023 Aug, 4) Fever.
https://my.clevelandclinic.org/health/symptoms/10880-fever
Melanie L. Pitone. (2023 Aug, 4) Fever (High Temperature) In Kids.
https://kidshealth.org/en/parents/fever.html