อาการปวดหัวเป็นอาการที่พบได้ในคนส่วนใหญ่ ถือเป็นอาการที่หลาย ๆ คนต้องเคยเผชิญ เพราะด้วยการใช้ชีวิตประจำวันทำให้มีปัจจัยกระตุ้นหลายปัจจัยที่นำไปสู่อาการปวดหัว ซึ่งแต่ละคนก็เจออาการปวดหัวในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป บางคนปวดหัวเพียงบางบริเวณของศีรษะ เช่น ปวดหัวข้างซ้าย ปวดหัวข้างขวา ปวดหัวท้ายทอย หรือในบางทีอาจปวดหัวมาก ปวดหัวไม่หาย ก็ควรจะยิ่งต้องสังเกตตัวเองเป็นพิเศษ วันนี้จึงขอพาไปอ่านสาระสุขภาพน่ารู้ดี ๆ เกี่ยวกับอาการปวดหัว ที่พร้อมช่วยไขข้อสงสัยในบทความนี้
สารบัญบทความ
- สาเหตุและอาการปวดหัว
- อาการปวดหัวที่น่าเป็นห่วง ควรรีบไปพบแพทย์
- วิธีรักษาอาการปวดหัวไม่รุนแรงด้วยตัวเอง
- วิธีดูแลตัวเองเมื่อมีอาการปวดหัว
- วิธีป้องกันอาการปวดหัว
- สรุป
สาเหตุและอาการปวดหัว
อาการปวดหัวเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุแม้จะเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้บ่อย แต่ทราบหรือไม่ว่าอาการปวดหัวเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุดังต่อไปนี้
1. อาการปวดหัวที่เกิดจากความเครียด (Tension)
ความเครียดถือเป็นหนึ่งในสาเหตุที่พบมากของอาการปวดหัว เพราะด้วยการใช้ชีวิตประจำวันที่ต้องเผชิญกับกิจกรรมต่าง ๆ มากมายที่ทำให้เกิดความเครียดทั้งการทำงาน การเรียน ชีวิตส่วนตัว ล้วนเป็นปัจจัยกระตุ้นทำให้เกิดอาการปวดหัวขึ้น โดยอาการปวดหัวที่เกิดจากความเครียดนั้นจะมีอาการปวดศีรษะทั้ง 2 ข้าง โดยอาการปวดจะมีลักษณะปวดบีบ ๆ รัด ๆ เหมือนถูกกดโดยเฉพาะในบริเวณกล้ามเนื้อหัว ขมับ รวมถึงที่บ่าและไหล่ ที่เกิดการหดตัวทำให้เกิดอาการปวดขึ้น
2. อาการปวดหัวไมเกรน (Migraine)
ปวดหัวไมเกรนเป็นอีกหนึ่งอาการปวดหัวที่มีลักษณะอาการปวดตุบ ๆ ปวดเป็นจังหวะที่ด้านใดด้านหนึ่งของศีรษะ หรือที่มักจะพูดติดปากว่าปวดหัวข้างเดียว บางรายอาจจะปวดหัวข้างซ้าย ปวดหัวข้างขวา หรือปวดสลับกันทั้งสองข้าง ซึ่งการปวดไมเกรนหากยิ่งมีสิ่งกระตุ้นอย่างอากาศร้อน แสงแดด เสียง กลิ่น การรับประทานอาหารบางชนิด รวมไปถึงในช่วงที่เป็นประจำเดือน จะยิ่งเป็นการกระตุ้นทำให้เกิดการปวดไมเกรนมากยิ่งขึ้น
สำหรับความถี่ในการปวดหัวไมเกรนของแต่ละคนจะแตกต่างกันออกไป บางคนอาจปวดไมเกรนปีละครั้ง สัปดาห์ละครั้ง หรือมากกว่านั้น ซึ่งอาการปวดหัวไมเกรนจะพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และยังเป็นอาการปวดหัวที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้อีกด้วย เพราะในบางท่านเมื่อเกิดอาการปวดไมเกรนขึ้น จำเป็นต้องเลี่ยงสิ่งกระตุ้น อาจต้องนอนพักผ่อน รับประทานยาเพื่อให้อาการดีขึ้นด้วย
3. อาการปวดหัวไซนัสอักเสบ (Sinusitis)
อาการไซนัสอักเสบมักเกิดจากโรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ทำให้โพรงจมูกบวม และติดเชื้อจนไม่สามารถระบายน้ำมูกได้จนน้ำมูกค้างอยู่ภายในเป็นจำนวนมากจนข้น หรือกลายเป็นหนองอักเสบขึ้น ซึ่งอาการไซนัสอักเสบนอกจากจะทำให้รู้สึกคัดจมูก เเละมีน้ำมูก ไอ ระคายเคืองคอแล้ว ยังทำให้เกิดอาการปวดหัว ปวดหว่างคิ้ว ปวดตึงใบหน้าอีกด้วย
4. อาการปวดหัวที่เกิดจากอาการผิดปกติของสมอง
อาการผิดปกติของสมองที่ส่งผลทำให้ปวดหัวมีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ความดันในสมองผิดปกติ, หลอดเลือดอุดตันในสมอง, เลือดออกในสมอง และเนื้องอกในสมอง เป็นต้น ส่วนใหญ่จะทำให้เกิดอาการปวดหัวที่ส่วนลึกของศีรษะ บริเวณที่ปวดจะขึ้นอยู่กับลักษณะของโรค อาการปวดหัวจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่กินยาแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตามนอกจากปวดศีรษะแล้ว อาจจะมีอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย เช่น ตาพร่ามัว เห็นภาพซ้อน แขนขาอ่อนแรง อาเจียน ชักหมดสติ ซึ่งควรพบแพทย์ตรวจหาสาเหตุอย่างละเอียด เพื่อให้รักษาได้อย่างถูกวิธี
5. อาการปวดหัวที่เกิดจากอักเสบของกราม
การอักเสบของกรามทำให้เกิดอาการปวดกรามขากรรไกร ปวดบริเวณใบหู และสามารถลามไปเป็นอาการปวดหัวได้ด้วยเช่นกัน อาจปวดจนอ้าปากไม่ได้ โดยส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการนอนกัดฟันในตอนกลางคืน เมื่อตื่นขึ้นมาจึงทำให้รู้สึกปวดเมื่อยในบริเวณดังกล่าว แต่นอกจากจะเกิดจากการกัดกรามแล้ว อาจเกิดจากกระดูกกรามหน้าใบหูอักเสบ หรือโรคข้อต่อขากรรไกรและกล้ามเนื้อบดเคี้ยว ที่ทำให้เกิดอาการปวดกรามจนลามไปถึงศีรษะได้เช่นกัน
6. อาการปวดหัวคลัสเตอร์ (Cluster)
อีกหนึ่งอาการปวดหัวที่หลายคนมักไม่ค่อยคุ้นชื่อคืออาการปวดหัวคลัสเตอร์ โดยอาการปวดหัวคลัสเตอร์เป็นอาการปวดหัวที่รุนแรง มักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ซึ่งจะมีลักษณะอาการปวดหัวแบบซีกเดียว อาจจะปวดหัวซีกซ้ายหรือปวดหัวซีกขวา รวมไปถึงปวดหัวครึ่งซีกก็ได้เช่นกัน โดยจะรู้สึกปวดแปลบ ๆ ปวดอย่างรุนแรงในบริเวณขมับ หน้าผาก ปวดเบ้าตา ปวดกระบอกตา และในแต่ละครั้งจะปวดนานประมาณ 15 นาทีไปจนถึง 3 ชั่วโมง สามารถปวดติดต่อกันได้ทุกวัน หรือปวดติดต่อกันเป็นสัปดาห์ และมักจะปวดในช่วงเวลาเดิม ๆ ของวัน
นอกจากนั้นอาการปวดหัวอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นแล้ว อาการปวดหัวคลัสเตอร์ยังอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีอาการตาบวม ตาแดง น้ำตาไหล เหงื่อออกบริเวณหน้าผาก น้ำมูกไหล คัดจมูก และอาการดังกล่าวจะเกิดขึ้นข้างเดียวกันกับที่ปวดหัวอีกด้วย
อาการปวดหัวที่น่าเป็นห่วง ควรรีบไปพบแพทย์
แม้ในบางครั้งอาการปวดหัวจะเป็นอาการที่หลายคนเผชิญบ่อยครั้ง และคิดว่าเป็นอาการที่เกิดขึ้นแล้วไม่รุนแรงจนไม่ได้ให้ความใส่ใจเมื่อเกิดอาการขึ้น แต่ทราบหรือไม่ว่าอาการปวดหัวบางแบบก็ควรใส่ใจ เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนว่าได้เวลาที่ควรไปพบแพทย์ ซึ่งอาการปวดหัวที่น่าเป็นห่วงมีดังต่อไปนี้
- ปวดหัวอย่างรุนแรง และเกิดขึ้นแบบทันที
- ปวดหัวคลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดหัวในบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บศีรษะ
- ปวดหัวบ่อยในทุก ๆ เช้า
- ปวดหัวเรื้อรัง ปวดแบบเป็น ๆ หาย ๆ
- ปวดหัวแล้วมีอาการมองเห็นไม่ชัด
- ปวดหัวแล้วหน้าเบี้ยว
- ปวดหัวร่วมกับมีอาการแขนขาชา แขนขาอ่อนแรง
- ปวดหัวแบบที่ไม่เคยมีอาการแบบนี้มาก่อน
โดยเฉพาะผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรระวังเป็นพิเศษ ซึ่งหากสังเกตตนเองแล้วพบว่ามีอาการปวดหัวดังต่อไปนี้แนะนำให้รีบไปพบแพทย์โดยทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนสุขภาพที่ควรเฝ้าระวัง
วิธีรักษาอาการปวดหัวไม่รุนแรงด้วยตัวเอง
อาการปวดหัว เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน เมื่อเกิดขึ้นแล้วมีอาการไม่รุนแรง หรือไม่ได้เกิดจากโรคร้ายแรง สามารถบรรเทารักษาอาการปวดหัวได้ด้วยตัวเอง โดยมีหลากหลายวิธีให้เลือกดังนี้
1. รับประทานยาแก้ปวด
การรับประทานยาแก้ปวดหัว เช่น ยาพารา เป็นวิธีแก้ปวดหัวเบื้องต้นที่ช่วยบรรเทาอาการปวดหัวไม่รุนแรงให้มีอาการดีขึ้น โดยควรรับประทานเมื่อมีอาการปวดหัว ไม่ควรรับประทานก่อนเกิดอาการ ที่สำคัญควรรับประทานยาพาราครั้งละ 1 – 2 เม็ด ทุก ๆ 4 – 6 ชั่วโมงไม่ควรรับประทานเกินวันละ 8 เม็ด และรับประทานต่อเนื่องกันเป็นเวลานานหลายวัน
สำหรับผู้ใหญ่ที่มีอาการปวดหัวเล็กน้อยจนถึงปานกลางสามารถรับประทานยาพาราแบบเม็ดเพื่อบรรเทาอาการได้เลย สำหรับเด็กแนะนำรับประทานยาพาราในรูปแบบน้ำ หรือยาพาราเด็ก รับประทานง่าย ให้ประสิทธิภาพได้เช่นเดียวกัน ซึ่งยาพาราเป็นยาสามัญประจำบ้านที่หาซื้อได้ที่ร้านขายยา และร้านสะดวกซื้อทั่วไป เช่น บาคามอล เป็นยาพารา 500 มก. เม็ดสีเหลือง ช่วยบรรเทาอาการปวด ลดไข้ ซื้อได้ที่ 7-11 ร้านขายยาชั้นนำ และร้านค้า Save Drug ในเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ
อย่างไรก็ตามหากมีอาการปวดหัวบางชนิดที่มีอาการปวดมากขึ้น อาจจำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการ และจ่ายยาให้ตรงกับอาการปวด
ชัวร์ก่อนซื้อ! ยาพาราเซตามอล ราคาเท่าไหร่?
2. ฉีดยา
การฉีดยาแก้ปวดหัวเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยรักษาอาการปวดหัว ซึ่งวิธีนี้ส่วนใหญ่จะใช้รักษาอาการปวดหัวจากโรคไมเกรน เป็นยาช่วยต้านสารสื่อประสาท CGRP ในร่างกาย ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะจากไมเกรน โดยตัวยาจะฉีดเข้าไปที่ใต้ผิวหนัง ฤทธิ์ของยาจะอยู่ได้นาน 1 เดือน ช่วยลดความถี่และความรุนแรงของอาการปวดหัวจากไมเกรนได้ 50-75% และต้องฉีดต่อเนื่อง 3-6 เดือน จึงจะเห็นผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. กายภาพบำบัด ยืดกล้ามเนื้อ และการนวด
วิธีรักษาอาการปวดหัววิธีต่อมาคือการกายภาพบำบัด ยืดกล้ามเนื้อ และการนวด โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการปวดหัวจากความเครียดซึ่งจะมีอาการปวดลุกลามมาถึงกล้ามเนื้อคอ บ่า ไหล การรักษาด้วยการนวด กายภาพบำบัด ยืดกล้ามเนื้อจะช่วยให้กล้ามเนื้อเกิดความผ่อนคลาย ทำให้กล้ามเนื้อส่วนที่เกร็งตึงเกิดการคลายตัว การกายภาพบำบัด ยืดกล้ามเนื้อ และการนวด จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยรักษาอาการปวดหัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. ฉีด Botox
หลายคนอาจสงสัยว่าการฉีด Botox สามารถรักษาอาการปวดหัวได้จริงหรือ? แม้ว่าส่วนใหญ่แล้วโบท็อกมักใช้เกี่ยวกับความสวยความงาม แต่สารโบท็อกสามารถรักษาอาการปวดหัวได้ เนื่องจากเข้าไปยับยั้งปลายประสาทที่ส่งสัญญาณความเจ็บปวด ด้วยการฉีดโบท็อกไปที่ระหว่างคิ้ว หน้าผาก ท้ายทอย ต้นคอ และบ่า ช่วยลดอาการปวดหัวภายใน 3-4 วัน และคงอยู่ได้นานถึง 3-4 เดือน ตามระยะเวลาออกฤทธิ์ของโบท็อก
5. ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายถือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยรักษาอาการปวดหัวชนิดไม่รุนแรงได้ด้วยตนเอง เพราะการออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายแข็งแรง กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดทำให้เลือดไปเลี้ยงยังสมองได้ดี แถมยังช่วยให้เกิดการผ่อนคลายอีกด้วย โดยแนะนำให้ออกกำลังกายด้วยท่าออกกำลังกายเบา ๆ ไม่หนักเกินไป อาจจะเป็นการวิ่งเหยาะ ๆ การออกกำลังกายด้วยการยืดส่วนหลัง หรือท่าก้มตัวจะช่วยให้อาการปวดหัวที่ไม่รุนแรงดีขึ้น
วิธีดูแลตัวเองเมื่อมีอาการปวดหัว
เมื่ออาการปวดหัวเกิดขึ้นนอกจากจะทำให้รู้สึกไม่ดีแล้ว ยังรบกวนชีวิตประจำวันให้เกิดความไม่ราบรื่นอีกด้วย การที่ได้ทราบวิธีดูแลตัวเองเพื่อช่วยให้รับมือกับอาการปวดหัวได้จึงเป็นเรื่องดีไม่น้อย วันนี้จึงจะขอแชร์วิธีดี ๆ เกี่ยวกับการดูแลตัวเองเมื่อมีอาการปวดหัว ดังต่อไปนี้
- พักสายตา พักความเครียด และความเหนื่อยล้าที่เป็นปัจจัยกระตุ้นให้ปวดหัว
- นวดคลึงเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด
- หากิจกรรมอื่น ๆ ทำ เช่น นอนพักผ่อน ฟังเพลง เดินเล่นสูดอากาศ
- ประคบเย็นเพื่อให้เกิดความผ่อนคลาย เช่น บริเวณหน้าผาก ขมับ ต้นคอ
วิธีป้องกันอาการปวดหัว
แม้อาการปวดหัวจะเป็นอาการที่พบได้ทั่วไป และเกิดขึ้นกับแทบทุกคน แต่การเกิดขึ้นบ่อย ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีแต่อย่างใด ซึ่งการป้องกันอาการปวดหัว มีดังนี้
- หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เกิดการปวดหัว เช่น ความเครียด การจ้องจอเป็นเวลานาน หรือกลิ่นบางกลิ่นที่อาจทำให้เกิดอาการปวดหัว เป็นต้น
- ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ โดยควรนอนหลับอย่างน้อย 7-8 ชั่วโมง
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ทานให้ครบ 5 หมู่
- ปรับเปลี่ยนวิธีการรับประทานอาหารโดยเฉพาะผู้ที่ปวดไมเกรน หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารบางชนิดที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการปวด เช่น ไวน์ ช็อกโกแลต ชีส เนย เป็นต้น
สรุป
อาการปวดหัวเรียกได้ว่าเป็นอาการที่เกิดขึ้นที่เชื่อว่าแทบทุกคนจะต้องเคยเจอสักครั้งในชีวิต โดยอาการปวดหัวมีหลากหลายสาเหตุ เช่น อาการปวดหัวจากความเครียด ปวดหัวไมเกรน ปวดหัวจากไซนัสอักเสบ ปวดหัวคลัสเตอร์ ปวดหัวที่เกิดจากอาการผิดปกติของสมอง รวมไปถึงปวดหัวที่เกิดจากอักเสบของกราม ซึ่งอาการปวดหัวจากสาเหตุต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นในบางครั้งก็ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ บางคนอาจจะต้องหยุดงาน หยุดเรียน หรือพักผ่อนเพื่อให้อาการปวดหัวนั้นดีขึ้น
อย่างไรก็ตามอาการปวดหัวหากมีอาการปวดที่ไม่รุนแรงสามารถรักษาได้ด้วยการนวดผ่อนคลาย ออกกำลังกาย และเริ่มสังเกตได้ว่ามีอาการปวดหัวที่ผิดปกติ ไม่ควรชะล่าใจ แนะนำให้รีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการ เพื่อหาสาเหตุของอาการที่เกิดขึ้น และได้รับการรักษาที่เหมาะสม
Reference
Clecelandclinic. (2023, July 10). Headache: What It Is, Types, Causes, Symptoms & Treatment.
https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/9639-headaches
Hopkinsmedicine. (2023, July 10). Headache.
https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/headache
WebMD Editorial. (2023, Nov 11). Headaches – Types, Causes, Symptoms, Diagnosis. WebMD.
https://www.webmd.com/migraines-headaches/migraines-headaches-basics