อาการไข้นั้น หลายคนอาจละเลยหรือไม่ค่อยให้ความสำคัญ อาจจะคิดว่า เมื่อเป็นไข้แล้ว กินยา พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำเยอะ ๆ เดี๋ยวก็หายเอง แต่ถ้าครั้งนี้มันไม่หายล่ะ จะทำอย่างไร และเมื่อไหร่ที่ควรจะต้องไปพบแพทย์

แน่นอนว่าการรักษาอาการไข้เบื้องต้นอาจเป็นรับประทานยาลดไข้ อย่างยาพาราเซตามอลก่อนได้ แต่เนื่องจากอาการไข้เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ในทุกช่วงวัย อาการไข้เบื้องต้นร่างกายจะมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ ในบางกรณีการรับประทานยาลดไข้อย่างเดียวอาจไม่เพียงพออาจต้องไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของการเกิดอาการไข้เพิ่มเติม โดยควรต้องรีบไปพบแพทย์เมื่อ

1. ดูแลตัวเองอย่างดีแล้วไข้ไม่ลดลงภายใน 2 – 3 วัน

2. มีไข้ต่อเนื่อง หรือไข้ขึ้น ๆ ลง ๆ นานเกิน 3 – 4 วัน

3. เป็นไข้ ร่วมกับเจ็บคอ ปวดศีรษะรุนแรง มากกว่า 2 วัน

4. เป็นไข้ ร่วมกับคลื่นไส้ อาเจียน มากกว่า 12 ชั่วโมงหรือมีอาเจียนเป็นเลือด

5. เป็นไข้ร่วมกับมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจลำบาก หอบ

6. เป็นไข้ และมีอาการคอบวม กลืนลำบาก หายใจไม่ออก

7. เป็นไข้และปวดท้องรุนแรง

8. มีไข้เจ็บคอ มีผื่นขึ้นตามตัวคอแข็ง และ/หรือแขนขาอ่อนแรง

9. มีไข้และมีอาการทางระบบปัสสาวะ เช่นปวดแสบขณะปัสสาวะ

10. มีไข้ ไอ มีเสมหะ สีเขียว เหลือง ปนเลือด

11. ผู้ที่เป็นไข้และเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังเด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ซึ่งจะมีภูมิคุ้มกันต่ำ

ดังนั้นควรลองสังเกตอาการของตัวเองกันให้ละเอียดนะครับว่าเราเป็นไข้แล้วมีอาการอื่นร่วมด้วยหรือไม่ หากทานยาพาราเซตามอลแล้วอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์ดีกว่าเพื่อจะได้รับการรักษาที่เหมาะสมต่อไปนะครับ

ดูแลสุขภาพนะครับ

เรียบเรียงโดย : ภก.ภรร์ชัยญ์ ลิมปิฐาภรณ์

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

1.https://www.houstonmethodist.org/articles/should-i-see-a-doctor/

2.https://www.verywellhealth.com/when-to-see-a-doctor-for-a-fever-770768