หากกล่าวถึงอาการปวดศีรษะแบบลอย ๆ ก็อาจวินิจฉัยได้ยากว่าอาการปวดศีรษะนี้มาจากอะไร โดยส่วนใหญ่แล้วผู้คนมักจะนึกถึงอาการปวดศีรษะจากการปวดท้อง ปวดประจำเดือน ปวดไมเกรน ฯลฯ แต่มีอีกอาการที่หลายคนอาจไม่รู้จักกันดีเท่าไหร่นักคืออาการไอแล้วปวดหัวนั่นเอง
ซึ่งอาการ ‘ไอแล้วปวดหัว’ ไม่ใช่การไอจากการป่วยเป็นไข้พร้อมอาการปวดหัว แล้วก็ไม่ใช่อาการไอแล้วปวดหัวขณะเป็นไมเกรนด้วยเช่นกัน แล้วตกลงอาการไอแล้วปวดหัวเป็นอย่างไรกันแน่ ในบทความนี้จะมาไขข้อสงสัยกัน รวมถึงแนะนำวิธีแก้ไขไอแล้วปวดหัว
ไอแล้วปวดหัว คือ
อาการไอแล้วปวดหัว คือ อาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นจากการ ‘ไอ’ มักจะเกิดอาการปวดหัวขึ้นทันทีหลังไอ โดยมีทั้งรูปแบบปฐมภูมิ (Primary cough headache) และรูปแบบทุติยภูมิ (Secondary cough headache)
อาการไอแล้วปวดหัวแบบปฐมภูมิเป็นอาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นแบบชั่วคราว นอกจากนี้ยังเกิดขึ้นจากการจาม การสั่งน้ำมูกแรง ๆ การขับถ่าย การหัวเราะ หรือการกระทำใด ๆ ที่มีการเกร็งเกิดขึ้น ซึ่งเป็นอาการที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เป็นปกติและไม่น่ากังวลมากนัก
แต่สำหรับอาการไอแล้วปวดหัวแบบทุติยภูมินั้นเป็นอาการปวดศีรษะที่รุนแรงกว่าแบบปฐมภูมิ และมีความอันตรายกว่ามาก เนื่องจากมักจะเป็นสัญญาณเตือนว่าภายในกะโหลกศีรษะหรือสมองกำลังมีความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้น ซึ่งถ้าหากมีอาการไอแล้วปวดหัวหนักมาก ๆ ควรรีบเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลโดยเร็วเพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป
สาเหตุที่ทำให้ไอแล้วปวดหัว
สำหรับอาการไอแล้วปวดหัวในรูปแบบปฐมภูมินั้นยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่ามีสาเหตุมาจากอะไร แต่ก็มีผู้ที่พยายามจะอธิบายถึงอาการไอแล้วปวดหัวแบบปฐมภูมินี้ว่า เกิดจากความดันที่เพิ่มขึ้นในสมอง ส่งผลให้เกิดอาการปวดศีรษะตามมา ซึ่งความดันที่เพิ่มขึ้นในสมองนอกจากการไอยังสามารถเกิดขึ้นจากการจาม การสั่งน้ำมูก การเบ่งอุจจาระ หรือการหัวเราะได้อีกด้วย
แต่ในส่วนของอาการไอแล้วปวดหัวในรูปแบบทุติยภูมินั้นมีหลายสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการปวดหัวเมื่อไอ อาทิ เนื้องอกในสมอง, ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ (Hydrocephalus), เส้นเลือดในสมองโป่งพอง, เกิดความผิดปกติกับสมองน้อย, น้ำไขสันหลังรั่วมายังสมอง เป็นต้น
อาการไอแล้วปวดหัว
อาการแบบไหนเป็นอาการไอแล้วปวดหัว (Cough headaches) อาการไอแล้วปวดหัวจะต้องเกิดหลังจากการไอทันที จึงจะเรียกว่าปวดหัวจากการไอได้ แต่ระดับความรุนแรงของอาการไอแล้วปวดหัวสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ดังนั้นเราจึงขอแยกอาการไอแล้วปวดหัวรูปแบบปฐมภูมิและทุติยภูมิ ดังนี้
- อาการไอแล้วปวดหัวแบบปฐมภูมิ (Primary cough headaches)
- อาจมีอาการปวดหัวข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้
- รูปแบบความเจ็บปวดจะรู้สึกแปลบ ๆ
- ระดับความเจ็บปวดของอาการปวดหัวจากการไอมีตั้งแต่ปวดระดับปานกลางไปจนถึงระดับรุนแรง
- อาการปวดหัวจากการไอมักเกิดขึ้นทันที และมักจะรู้สึกปวดระดับสูงสุดเกือบจะทันที แต่ช่วงระยะเวลาปวดอาจอยู่เพียงชั่วคราว อาจเป็นหลักวินาทีหรือ 2-3 นาทีเท่านั้น (แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจพบอาการไอแล้วปวดหัวยาวนานถึง 2 ชั่วโมง)
ซึ่งอาการไอแล้วปวดหัวแบบปฐมภูมินั้น จะเป็นอาการปวดหัวจากการไอหรือการเกิดแรงดันภายในร่างกายเท่านั้น ไม่มีความผิดปกติภายในกะโหลกศีรษะหรือความผิดปกติทางสุขภาพอื่น ๆ
- อาการไอแล้วปวดหัวแบบทุติยภูมิ (Secondary cough headaches)
- มีรูปแบบการปวดหัวที่แตกต่างกันไปขึ้นกับสาเหตุ
- ความรุนแรงของอาการปวดจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ และสามารถคงอาการปวดหัวจากการไอได้นานหลักชั่วโมงหรือหลักสัปดาห์เลยทีเดียว
- มีอาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม และอาจมีปัญหาเรื่องการทรงตัว การมองเห็น รวมถึงอาการชาบนใบหน้าขึ้นอยู่กับว่าเกิดความผิดปกติจากสาเหตุใด
- มักปวดหัวจากการไอบริเวณหลังกะโหลกศีรษะ
อาการไอแล้วปวดหัวแบบทุติยภูมิมักเกิดจากความผิดปกติใด ๆ ในร่างกาย เมื่อมีอาการไอขึ้นยิ่งไปส่งผลกระทบให้เกิดอาการปวดหัวมากขึ้นด้วย
วิธีแก้อาการไอแล้วปวดหัว
สำหรับอาการไอแล้วปวดหัวแบบปฐมภูมิมักจะมีอาการที่ไม่รุนแรง และมีระยะเวลาปวดเพียงสั้น ๆ โดยปกติแล้วจึงไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาและสามารถหายได้เองตามธรรมชาติ แต่ถึงอย่างนั้นอาการไอแล้วปวดหัวอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หากมีอาการไอแล้วปวดหัว อันดับแรกสามารถบรรเทาอาการปวดได้ด้วยการรับประทานยาแก้ปวดก่อนไปพบแพทย์ได้
เมื่อไปพบแพทย์แล้วพบว่าอาการปวดหัวเกิดขึ้นจากการไอ และผู้ป่วยมีอาการปวดแบบปฐมภูมิ แพทย์อาจจ่ายยาลดอาการปวดอักเสบ ยกตัวอย่างเช่น อินโดเมธาซิน (Indomethacin), โพรพาโนลอล (Propranolol), อะเซตาโซลาไมด์ (Acetazolamide) เป็นต้น และอาจมีบางกรณีที่แพทย์พิจารณาลดความดันในกะโหลกศีรษะ ด้วยการเจาะระบายน้ำไขสันหลังบางส่วนทำให้อาการปวดหัวลดลงนั่นเอง
แต่สำหรับอาการไอแล้วปวดหัวแบบทุติยภูมินั้นมักจะต้องรักษาไปตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดหัว ยกตัวอย่างเช่น
- เนื้องอกในสมอง : รักษาด้วยการผ่าตัดเนื้องอก
- สมองน้อยย้อย (Chiari malformation type I) : บรรเทาอาการปวดเบื้องต้นได้ด้วยยาแก้ปวด และอาจต้องเข้ารับการผ่าตัดในกรณีที่อาการไอแล้วปวดหัวเกิดขึ้นอย่างรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน
วิธีป้องกันอาการไอแล้วปวดหัว
อาการไอแล้วปวดหัวดูเหมือนจะเป็นอาการที่พบเจอได้บ่อย แต่ความเป็นจริงแล้วการปวดหัวที่เกิดขึ้นทันทีหลังไอ และมักจะมีอาการปวดเมื่อไอเพียงอย่างเดียวนั้นอันตรายกว่าที่คิด หากเป็นไปได้ควรป้องกันตนเองเพื่อไม่ให้เกิดอาการไอแล้วปวดหัวแต่แรกจะดีที่สุด โดยวิธีป้องกันไอแล้วปวดหัวมีดังนี้
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีผลข้างเคียงคืออาการไอ
- รับประทานอาหารที่มีเส้นใยให้มาก เพื่อหลีกเลี่ยงอาการท้องผูกจนต้องเบ่งอุจจาระและไปสร้างแรงดันทำให้ปวดศีรษะ
- รักษาอาการป่วยใด ๆ ที่ทำให้เกิดอาการไอ เช่น การติดเชื้อในปอด หลอดลมอักเสบ
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมการเคลื่อนไหวที่มีการเปลี่ยนแปลงกะทันหัน จนส่งผลต่อความดันภายในร่างกาย เช่น การลุกนั่งอย่างรวดเร็ว การแบกของหนัก เป็นต้น
สรุปอาการไอแล้วปวดหัว
อาการไอแล้วปวดหัวสามารถเกิดขึ้นทั้งแบบที่ไม่ทราบสาเหตุ และแบบที่มีสาเหตุจากความผิดปกติของอวัยวะหนึ่งในร่างกาย ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวดเบื้องต้น ตลอดจนพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่แน่ชัด เพื่อสามารถรักษาอาการไอแล้วปวดหัวได้อย่างตรงจุด
Reference
Ahmed, KA. Ahmed, JA. Mohsin,I and Ahmed, MH. (2023). Primary Cough Headache: A Case Report. Cureus, 15(3): e36971. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC10072196/
Cordenier, A. Hertogh, WD. Keyser, JD. and Versijpt, J. (2013). Headache associated with cough: a review. The journal of headache and pain, 14(1): 42. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3671207/
Mayo Clinic Staff. (2022). Cough headaches. Retrieved August 4, 2023, from https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/primary-cough-headaches/symptoms-causes/syc-20371200
Cleveland Clinic medical professional. (2019, November 27). Primary Cough Headache. Cleavland Clinic. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/21071-primary-cough-headache
Robinson, J. (2023, September 22). Overview of Cough Headaches. WebMD. https://www.webmd.com/migraines-headaches/cough-headaches-overview