ในชีวิตประจำวันของเรา มีกิจกรรมมากมายที่จำเป็นจะต้องใช้แขนอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเล่นกีฬา การออกแรงยกของ หรืออิริยาบถต่าง ๆ เมื่อมีการใช้แขนบ่อยครั้งจนไม่ได้พัก แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาคือ อาการปวดแขน บางครั้งก็ปวดแขนข้างซ้าย บางครั้งปวดแขนข้างขวาต่างกันออกไป
ซึ่งเมื่อเกิดอาการปวดแขนขึ้นการทราบถึงลักษณะอาการ และวิธีการบรรเทาอาการปวดแขนในเบื้องต้นก็จะช่วยให้อาการปวดที่เกิดขึ้นเบาลง โดยในบทความนี้จะกล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับอาการปวดแขนตั้งแต่สาเหตุ พร้อมแนะนำท่าบริหารเพื่อยืดกล้ามเนื้อที่สามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยตนเอง
ปวดแขน
อาการปวดแขน (Arm Pain) เป็นอาการรู้สึกไม่สบาย รู้สึกเจ็บ และปวดที่บริเวณแขน รวมไปถึงบริเวณข้อมือ ข้อศอก และหัวไหล่ และยังมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น รอยแดง แขนบวม ตึง เนื่องจากแขนเป็นอวัยวะที่มีการขยับ เคลื่อนไหว และใช้งานในชีวิตประจำวันเกือบตลอดเวลา ทำให้ส่วนใหญ่เมื่อมีการใช้งานแขนมากเกินไปก็จะทำให้ปวดกล้ามเนื้อแขนได้ นอกจากนั้นอาการปวดแขนยังอาจเกิดจากโรคอื่น ๆ ได้ด้วยเช่นกัน
อาการปวดแขนเกิดจากอะไร
หลายครั้งที่รู้สึกปวดแขน มักจะมีอาการปวดในหลายที่ในบริเวณต่าง ๆ ของแขน ไม่ว่าจะเป็นปวดกล้ามเนื้อแขน ปวดเส้นเอ็นแขน ปวดต้นแขน ปวดหัวไหล่ร้าวลงแขน ซึ่งอาการปวดแขนแต่ละที่ก็จะมีอาการ และมีสาเหตุที่แตกต่างกันดังนี้
1. เส้นประสาทถูกกดทับ
สาเหตุแรกของอาการปวดแขนคือมาจากเส้นประสาทถูกกดทับ โดยเกิดจากกระดูก หรือเนื้อเยื่อบริเวณไหล่ คอ รวมไปถึงข้อศอกกดทับเส้นประสาทมากจนทำให้เกิดอาการปวด ชา เสียว และกล้ามเนื้ออ่อนแรงขึ้น จนนำไปสู่อาการปวดแขน
2. เอ็นอักเสบ
อาการปวดแขนที่เกิดจากเส้นเอ็นอักเสบเกิดขึ้นได้จากหลากหลายพฤติกรรม เช่น ใช้งานแขนหนักเกินไป การเล่นกีฬา เป็นต้น ซึ่งจะมีอาการรู้สึกตึงแขน ปวดเส้นเอ็นแขน ปวดหัวไหล่ขวา ปวดหัวไหล่ซ้าย ปวดข้อศอก ปวดข้อมือ เคลื่อนไหวแขนลำบาก และอาจมีอาการบวมในบริเวณที่ปวดร่วมด้วย ซึ่งระดับความเจ็บปวดของแต่ละคนจะไม่เท่ากัน โดยเอ็นอักเสบสามารถรักษาให้หายเองได้ภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่ถ้าหากยังไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม
3. เอ็นไหล่ฉีกขาด
อาการปวดแขนที่เกิดจากเอ็นไหล่ฉีกขาด ทำให้มีอาการปวดหัวไหล่ร้าวลงแขน จนแขนอ่อนแรง ปวดไหล่ร้าวลงแขนตอนนอนตะแคง ปวดเวลายกแขนขึ้นลง ซึ่งเอ็นไหล่ฉีกขาดสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งอุบัติเหตุ ล้มแล้วเหยียดแขนไปเท้ากับพื้น หัวไหล่กระแทกอย่างรุนแรง หรือความเสื่อมของเอ็นไหล่ตามอายุที่มากขึ้น รวมไปถึงการใช้งานแขนกับไหล่ที่หนักจนเกินไป โดยเฉพาะกับนักกีฬาประเภทที่ต้องใช้แขนและไหล่ เช่น ยกน้ำหนัก เบสบอล เป็นต้น สำหรับวิธีรักษาอาการปวดหัวไหล่จากเอ็นไหล่ฉีกขาดนั้นจะต้องทำกายภาพบำบัด ใช้ยา จนไปถึงการผ่าตัด
4. ข้อแพลง
อาการปวดแขนที่เกิดจากข้อแพลง ทำให้มีอาการเจ็บปวดเส้นเอ็นแขน ในบริเวณข้อต่อทั้งข้อมือ ข้อศอก หัวไหล่ แต่ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นกับข้อมือ โดยมักจะมีอาการบวมร่วมด้วย เนื่องจากเนื้อเยื่อและเอ็นยึดข้อฉีกขาดจากการพลิก หมุน หรือบิดของข้อต่อ จากอุบัติเหตุหรือจากการเล่นกีฬา จนทำให้มีอาการปวดแขน ปวดข้อมือ วิธีแก้ปวดแขนจากข้อแพลงสามารถทำได้ด้วยการประคบเย็นภายใน 24 ชั่วโมงแรก และหลังจากนั้นให้ประคบร้อน ซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 – 3 สัปดาห์จึงจะดีขึ้น
5. กระดูกหัก
ในบางครั้งการใช้ชีวิตประจำวันของคนเราอาจเกิดการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุต่าง ๆ ได้ เช่น อุบัติเหตุจากการลื่นล้ม การเสียหลัก การตกบันได รวมไปถึงการเล่นกีฬาบางชนิด ซึ่งอุบัติเหตุทั้งหลายเหล่านี้อาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บที่แขนขึ้นได้ และบางกรณีอาจเกิดอาการกระดูกหักขึ้น ซึ่งอาการกระดูกหักมักจะมีลักษณะอาการที่ทำให้เกิดการปวดแขน แขนบวม มีรอยช้ำ และยังสามารถสังเกตได้ว่าแขนมีลักษณะผิดรูป ไม่สามารถพลิกฝ่ามือได้ โดยอาการบาดเจ็บดังกล่าว หากเกิดขึ้นควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย และได้รับการรักษาที่ถูกวิธีเพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนที่อาจตามมา
6. โรคบางชนิด
สาเหตุสุดท้ายที่ทำให้เกิดอาการปวดแขนคือโรคบางชนิด โดยโรคบางชนิดมีส่วนให้กล้ามเนื้อเกิดอาการยึดและตึง จนนำไปสู่อาการปวดกล้ามเนื้อแขน ตัวอย่างเช่น
- โรคกระดูกคอเสื่อมกดทับเส้นประสาทของไหล่
- โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
- โรคหัวใจขาดเลือด
อาการปวดแขน
สำรวจลักษณะอาการที่มักเกิดขึ้นเมื่อมีอาการปวดแขน ดังต่อไปนี้
- เกิดอาการเสียวแปลบเมื่อเอื้อม ยก หรือขยับแขน
- มีอาการปวดตึง
- ปวดเมื่อย ปวดเสียวบริเวณแขน
- เกิดอาการปวดมากจนไม่สามารถขยับแขนได้
- มีอาการชา
- บวม หรือมีรอยแดง
วิธีบรรเทาอาการปวดแขนเบื้องต้น
เมื่อมีอาการปวดแขน ไม่ว่าจะปวดบริเวณข้อมือ ปวดหัวไหล่ร้าวลงแขน ปวดกล้ามเนื้อแขน หรือปวดเส้นเอ็น ก็สามารถบรรเทาอาการปวดแขนให้ทุเลาลงได้ การบรรเทาอาการปวดแขนสามารถทำได้หลายวิธีดังนี้
1. พักการใช้งานกล้ามเนื้อ
วิธีบรรเทาอาการปวดแขนเบื้องต้นวิธีแรกคือการพักการใช้งานกล้ามเนื้อ จะช่วยให้อาการปวดแขนดีขึ้น หากมีการฝืนใช้งานกล้ามเนื้อบริเวณที่ปวดจะยิ่งทำให้อาการปวดกล้ามเนื้อแขนแย่ลง โดยเฉพาะใครที่มีความจำเป็นต้องทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องใช้กล้ามเนื้อ เช่น การออกกำลังกาย การยกของหนัก รวมไปถึงกิจกรรมอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องออกแรงส่วนแขน แนะนำให้พักการใช้กล้ามเนื้อไปก่อนจนกว่าอาการจะดีขึ้น
2. รับประทานยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ
การรับประทานยาแก้ปวดเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยบรรเทาอาการปวดแขนให้ดีขึ้นได้ เช่น การรับประทานยาไอบูโพรเฟน หรือยาพาราเซตามอล (Paracetamol) อย่างบาคามอล ยาเม็ดสีเหลือง เป็นยาพาราเซตามอล 500 มก. ช่วยบรรเทาอาการปวดหัว ปวดฟัน ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเอว ปวดแขน ปวดเข่า พร้อมทั้งยังช่วยลดไข้ มีความปลอดภัย ผลข้างเคียงต่ำ สามารถซื้อได้ตามร้านขายยา และร้านสะดวกซื้อชั้นนำทั่วไป
โดยการรับประทานยาแก้ปวดอย่างยาพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการปวดแขนนั้น จะแนะนำให้รับประทานในกรณีที่มีอาการปวดแขนเพียงเล็กน้อย และควรรับประทานยาห่างกันทุกๆ 4-6 ชม. ที่สำคัญไม่ควรใช้ยาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานติดต่อกันเกิน 5 วัน
สำหรับการรับประทานยาคลายกล้ามเนื้อ (Muscle Relaxant) เพื่อบรรเทาอาการปวดแขนเบื้องต้นนั้น จะใช้สำหรับบรรเทาอาการจากพฤติกรรมที่อยู่ในท่าเดิมเป็นระยะเวลานาน หรือมีการใช้งานกล้ามเนื้ออย่างหนัก ซึ่งยาคลายกล้ามเนื้อจะช่วยลดอาการตึง อาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อให้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามยาคลายกล้ามเนื้อจะต้องจ่ายโดยแพทย์ หรือเภสัชกรเท่านั้น ไม่สามารถซื้อมารับประทานเองได้ และไม่ควรรับประทานยาติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน หากอาการดีขึ้นควรหยุดรับประทานยาทันที
3. ทายาแก้ปวด
การทายาแก้ปวดเป็นอีกหนึ่งวิธีที่หลายคนนึกถึงเมื่อมีอาการปวดแขน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยตามตัว เพราะสามารถหาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อ ร้านขายยาทั่วไป ยิ่งไปกว่านั้นยาทาแก้ปวดยังมีหลากหลายรูปแบบให้เลือกใช้ตามความสะดวก ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบแผ่นแปะ เจล ครีม บาล์ม โดยยาทาแก้ปวดแบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ
- ยาทาแก้ปวดชนิดร้อน: บรรเทาอาการปวด ช่วยให้บริเวณกล้ามเนื้อมีเลือดไหลเวียนมากขึ้น เหมาะกับอาการปวดแขน อาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นใน 48-72 ชั่วโมง
- ยาทาแก้ปวดชนิดเย็น: จะช่วยลดการไหลเวียนของเลือดจึงส่งผลให้สามารถลดอาการบวม อาการปวด เหมาะสำหรับอาการปวดแขน หรืออาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นไม่เกิน 48 ชั่วโมง
4. ประคบเย็น
การบรรเทาอาการปวดแขนเริ่มต้นด้วยการประคบเย็น เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยบรรเทาอาการปวดแขน ลดอาการปวดบวมให้ดีขึ้น โดยการประคบเย็นสามารถนำอุปกรณ์อย่างถุงน้ำแข็ง เจลเย็น หรือแม้กระทั่งผ้าเย็นชุบน้ำแล้วนำเข้าช่องแช่แข็ง จากนั้นนำมาประคบในบริเวณที่มีอาการได้ ซึ่งวิธีการประคบเย็นจะใช้ในกรณีที่มีอาการปวดแขนจากการบาดเจ็บ กล้ามเนื้อแขนตึง หรือมีอาการเคล็ด
5. ใช้ผ้ายืดพันรอบบริเวณที่มีอาการปวดบวม
วิธีสุดท้ายที่ช่วยบรรเทาอาการปวดแขนก็คือการใช้ผ้ายืดพันเคล็ด หรือผ้าพันแก้ปวด พันรอบในบริเวณที่มีอาการปวดแขน ทั้งจากอุบัติเหตุ การทำงานหนัก หรือการออกกำลังกาย สามารถใช้ได้ทั้งบริเวณข้อมือ ข้อศอก และหัวไหล่ โดยผ้ายืดพันเคล็ดจะช่วยพยุงและบรรเทารักษาบริเวณที่มีอาการปวดแขน ลดอาการบวม และป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อบริเวณที่ปวดถูกกระแทก
5 ท่า ยืดกล้ามเนื้อที่ช่วยลดอาการปวดแขนได้
นอกจากการรักษาอาการปวดแขนด้วยยาหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ แล้ว ยังสามารถใช้การยืดกล้ามเนื้อเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดแขนได้ โดยเราได้รวบรวม 5 ท่ายืดกล้ามเนื้อ ที่สามารถทำตามได้ด้วยตัวเองดังนี้
1. ท่ายืดกล้ามเนื้อต้นแขนด้านหน้า
โดยท่านี้จะเป็นการยืดกล้ามเนื้อต้นแขนด้านหน้า เริ่มจากการเหยียดแขนไปทางด้านหน้าและทำการหงายฝ่ามือ จากนั้นให้ใช้มืออีกข้างจับไปที่บริเวณฝ่ามือให้กระดกลง จนเกิดความรู้สึกตึงแต่ไม่ต้องถึงกับเจ็บ และทำแบบนี้ซ้ำ ๆ ประมาณ 3-5 ครั้ง ครั้งละ 15 วินาที
2. ท่ายืดกล้ามเนื้อต้นแขนด้านหลัง
เป็นท่าที่มีลักษณะคล้ายกับการยืดกล้ามเนื้อต้นแขน โดยท่านี้จะทำสลับกัน เปลี่ยนจากการหงายฝ่ามือเป็นการคว่ำฝ่ามือ และใช้มืออีกข้างจับฝ่ามือให้กระดกลง ให้เกิดความรู้สึกตึง แต่ไม่ต้องถึงกับเจ็บเช่นเดียวกัน พร้อมกับทำซ้ำ ๆ ประมาณ 3-5 ครั้ง ครั้งละ 15 วินาที ก็ช่วยลดอาการปวดแขนได้
3. ท่าเหยียดแขนไปทางด้านข้าง
โดยท่านี้จะเป็นการกางแขนออกไปทางด้านข้างของลำตัว หลังจากนั้นกระดกมือขึ้นพร้อมเอียงศีรษะเข้าหาแขนที่กางออก จากนั้นค่อย ๆ เอียงศีรษะออกพร้อมกับกระดกมือลง ทำสลับไปอย่างนี้เรื่อย ๆ ประมาณ 10 ครั้ง จะช่วยบรรเทาอาการปวดบริเวณต้นแขนให้ดีขึ้น
4. ท่าเอื้อมแขน
ท่าแก้ปวดแขนท่าต่อมาที่สามารถทำได้ด้วยตัวเองคือ ท่าเอื้อมมือ ซึ่งท่านี้จะช่วยบรรเทาอาการปวดแขนไปจนถึงอาการปวดกล้ามเนื้อหัวไหล่ สามารถทำได้ทั้งในขณะที่นั่งหรือยืนอยู่ โดยใช้มือจับหัวไหล่ฝั่งตรงข้าม จากนั้นให้ใช้มืออีกข้างจับข้อศอก แล้วดันข้อศอกเข้าที่ลำตัวจนเกิดความรู้สึกตึงบริเวณไหล่ ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ประมาณ 5-10 ครั้ง ครั้งละ 15 วินาที
5. ท่าบริหารหัวไหล่
ท่าสุดท้ายคือท่าบริหารหัวไหล่ โดยให้เริ่มจากการยืนหันหน้าเข้าหากำแพง จากนั้นให้ประสานมือแล้วเหยียดแขนตรงมาไว้ที่ด้านหลัง จากนั้นดึงมือลงเพื่อยืดกล้ามเนื้อ แล้วค่อย ๆ ผ่อนสลับกันไป ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ประมาณ 5-10 ครั้ง ครั้งละ 15 วินาที
สรุปอาการปวดแขน
อาการปวดแขนเป็นอาการที่เกิดขึ้นจากหลากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น พฤติกรรมในชีวิตประจำวันจากการใช้กล้ามเนื้อแขนเป็นระยะเวลานาน หรือแม้กระทั่งอาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดขึ้น ซึ่งการบรรเทาอาการปวดเบื้องต้นสามารถทำได้ตั้งแต่การพักกล้ามเนื้อ หยุดใช้กล้ามเนื้อจนกว่าอาการจะดีขึ้น หรือการรับประทานยาแก้ปวด การทายาแก้ปวด ไปจนถึงการประคบเย็น การใช้ผ้ายืดพันเคล็ด อย่างไรก็ตามหากลองวิธีต่าง ๆ ที่ช่วยลดอาการปวดแล้วอาการปวดแขนไม่ดีขึ้น แนะนำให้พบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมจะดีที่สุด
Reference
Brian Joseph Miller. (2022, Oct 27). What Is Arm Pain? Symptoms, Causes, Diagnosis. https://www.everydayhealth.com/arm-pain/guide/
WebMD Editorial. (2023, Jul 07). Why Does My Arm Hurt? 10 Possible Causes of Arm Pain https://www.webmd.com/a-to-z-guides/why-does-my-arm-hurt
Thepaincenter. (2023, Jul 27). Arm Pain Causes and Relief. https://www.thepaincenter.com/conditions/arm-pain/